กทท.รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรก ปีงบ’61

กทท.รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรก ปีงบ’61

"การท่าเรือฯ" รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปีงบ 2561 พร้อมคาดสิ้นปีนี้มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 9.7-9.8 ล้านที.อี.ยู.

​เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ในช่วงไตรมาสแรกประจำปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม – ธันวาคม 2561) โดยเปรียบเทียบกับปีก่อน สรุปดังนี้

ท่าเรือกรุงเทพ เรือเทียบท่า 774 เที่ยว ลดลง 5.00% สินค้าผ่านท่า 5.904 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.70 % ตู้สินค้าผ่านท่า 0.376 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 0.50 %

ท่าเรือแหลมฉบัง เรือเทียบท่า 3,331 เที่ยว ลดลง 1.80 % สินค้าผ่านท่า 21.519 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.40 % ตู้สินค้าผ่านท่า 2.024 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.60 %

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เรือเทียบท่า 1,318 เที่ยว เพิ่มขึ้น 126.90 % สินค้าผ่านท่า 92,883 ตัน เพิ่มขึ้น 99.30 %

ท่าเรือเชียงของ เรือเทียบท่า 123 เที่ยว ลดลง 35.60 % สินค้าผ่านท่า 20,355 ตัน เพิ่มขึ้น 7.10 %

ท่าเรือระนอง เรือเทียบท่า 80 เที่ยว เพิ่มขึ้น 50.90 % สินค้าผ่านท่า 22,049 ตัน เพิ่มขึ้น 142.00 %

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมการค้าตู้สินค้าทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2561 (Drewry Shipping Consultants, Oct 2017) และขยายตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ ไปอีก 5 ปี ซึ่งการเติบโตที่ลดลงบวกกับความท้าทายจากการควบรวมอุตสาหกรรมทำให้อุตสาหกรรมท่าเรือชะลอตัวลงตาม เนื่องจากผู้ประกอบการท่าเทียบเรือระดับโลก ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือแห่งใหม่

เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชัดเจน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้าและในเกือบทุกตลาดส่งออก สอดคล้องกับ ปริมาณสินค้าผ่านท่าของ กทท. ที่มีผลการดำเนินงานด้านตู้สินค้าผ่านท่าทั้งสิ้น 2.400 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 0.106 ล้าน ที.อี.ยู. หรือร้อยละ 4.6 และผลการดำเนินงานด้านสินค้าผ่านท่า 27.423 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.107 ล้านตัน หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อีกทั้งในส่วนการลงทุนภาคเอกชน เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่เพิ่มขึ้นตามความชัดเจนของการดำเนินนโยบายภาครัฐ อาทิ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และ การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมถึง ทลฉ. ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับ กทท.

อย่างไรก็ตามปัจจัยต่างๆ อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมทั้ง ภาวะอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเป็นบวก จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผลการดำเนินงานของ กทท. ในระยะถัดไปขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6.0-7.0 หรือมีปริมาณตู้สินค้าผ่าน กทท. ประมาณ 9.7-9.8 ล้าน ที.อี.ยู. เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2561