‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ โอกาสและความท้าทายของไทย

‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ โอกาสและความท้าทายของไทย

​ผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าทางด้านทะเล ร่วมประชุมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ครั้งแรกในภูมิภาค หวังเตรียมความพร้อมสร้างโอกาส ลดความท้าทายเศรษฐกิจทางทะเล มูลค่าล้านล้าน

เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะร่วมกับงานหุ้นส่วนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในเอเชียตะวันออก (PEMSEA) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดการประชุม “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy Forum) : เวทีระดมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือสถานภาพทะเลในเอเชียตะวันออก” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น กรุงเทพฯ ประเทศไทย

​โดยมี ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Mr. Stephen Adrian Ross ผู้อำนวยการ PEMSEA ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะสกว.และ ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รวมถึงนักวิจัย ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ เอกชน ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุม

​โอกาสนี้ ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวถึงการประชุมเพื่อหารือสถานภาพทะเลในเอเชียตะวันออกว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการกล่าวถึง เศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ บลู อีโคโนมี (Blue Economy) มากขึ้น และเป็นแนวคิดที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาทางทะเลและชายฝั่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีหลายองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กรร่วมเป็นภาคี อาทิ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และหลายประเทศให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีนำเงิน

​อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ และองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจทางทะเล หรือ เศรษฐกิจที่อาศัยทรัพยากรทางทะเลเป็นฐานของการพัฒนา ภายใต้ประเด็นที่ทั่วโลกตื่นตัวและให้ความสนใจ เพราะเกี่ยวพันถึง “เศรษฐกิจและความมั่นคง” อย่างไรก็ดี สกว.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย ได้สนับสนุนชุดโครงการวิจัยกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการทั้งสิ้น 6 โครงการประกอบด้วย 1.โครงการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของระบบป่านิเวศของประเทศไทย 2.โครงการศึกษาการพัฒนาศักยภาพตามแนวเศรษฐกิจสีน้ำเงินของจังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทย 3.โครงการพัฒนาระบบบัญชีเศรษฐกิจทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (SEEA-Blue Economic) 4.โครงการศึกษาเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินของประเทศไทย 5.โครงการศึกษาข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 และ 6.โครงการศึกษาสถานภาพและผลกระทบของพันธกรณีระหว่างประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน : กรณีท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

​“สำหรับโครงการวิจัยทั้ง 6 โครงการ สกว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในส่วนที่เป็นข้อมูล หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลต่อการจัดทำร่างประกอบนโยบายแห่งชาติทางทะเลของประเทศไทย แก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ และภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างองค์กร และภาคส่วนต่างๆ เพราะเศรษฐกิจสีน้ำเงินของไทยจะก้าวไปได้ จะต้องอาศัยความร่วมจากรัฐและเอกชนต้องเห็นโจทย์ และเข้าใจให้ตรงกัน จึงจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้” ผู้อำนวยการ สกว.

​ประเด็นเดียวกันนี้ ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ วิเคราะห์มุมมองที่น่าสนใจ ในส่วนของนักวิชาการที่ทำวิจัย โดยสังเขป ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์ทางทะเลที่ดี เพราะไทยมีพื้นที่ติดทะเล 2 ข้าง คือ อ่าวไทย และทะเลอันดามัน ที่มีชายฝั่งทะเลครอบคลุม 23 จังหวัด ระยะทางเกือบ 3,000 กิโลเมตร แบ่งเป็น ชายฝั่งทะเลภาคตะวันตก ด้านอ่าวไทย 544 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลภาคใต้ ด้านตะวันตกของอ่าวไทย 1,334 กิโลเมตร และชายฝั่งตะวันตก ด้านทะเลอันดามัน 937 กิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

​“หากประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทย โดยรวมทั้งหมดของทุกกิจกรรมที่เกิดรายได้นั้นมีมูลค่ามากถึง 11 ล้านล้านบาท (รายงานเมื่อปี 2015) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ถือ ว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย ขณะที่มูลค่าโดยรวมของโลกอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านดอนลาร์สหรัฐ และเพื่อให้เกิดมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจที่แท้จริง จะต้องมีการประเมินตนทุนในส่วนที่เป็นทรัพยากรทางทะเล ซึ่งนี้จึงเป็นที่มาของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการวิจัยเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ตามประเด็นต่างๆที่มีความเกี่ยวเนื่อง” ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าว

​อย่างไรก็ตาม กับเรื่องนี้ ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ เสนอแนะว่า ในการจัดทำแผนความมั่นคงทางทะเลของไทย ควรที่จะต้องตอบโจทย์ในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ 1.จะต้องครอบคลุมเศรษฐกิจประเทศไทย 2.จะต้องมีมาตรการสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจของเอกชน 3.จะต้องมีกระบวนการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่ชัดเจน เป็นต้น

​อนึ่ง การประชุมสองวัน เป็นการแลกเปลี่ยนถึงบทบาทที่มีความสำคัญของมหาสมุทรและระบบนิเวศทางทะเลที่มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสวัสดิการของสังคมและการฟื้นตัวของภูมิภาค ตลอดจนศักยภาพสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินในภูมิภาคทะเลในเอเชียตะวันออก ทั้งในส่วนของการอภิปรายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจากมหาสมุทร และบริการจากระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ความเสี่ยง และภัยคุกคาม นโยบายที่ตอบสนอง และการริเริ่มใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

​ขณะเดียวกัน การประชุมยังเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอสาระสำคัญที่จะสื่อสารไปยังผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย โดยมี Prof. Alistair McIlgorm ศาสตราจารย์จาก University of Wollongong ประเทศออสเตรเลีย ดำเนินการอภิปราย และมี Melanie Austen, Head of Science: Sea and Society, Plymouth Marine Laboratory, จากสหราชอาณาจักร และมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน อินโดนีเชีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย นำเสนอรายงาน SOC Reports ของแต่ละประเทศ

​รวมถึงการประชุมในหัวข้อ “Making It Happen: Blue solutions for protecting ocean health and communities” การประชุมในช่วงดังกล่าวจะฉายภาพให้เห็นถึงการริเริ่มใหม่ๆ ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การจัดการกับปัญหามลพิษ และชี้ให้เห็นปัญหาการทำลายทรัพยากรและการประมงเกินขนาด ซึ่งสะท้อนความจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนที่ 14 (SDG 14) ซึ่งแต่ละประเด็นจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างโอกาสและความท้าทายของไทยต่อไป