พัฒนาแบรนด์ดึงนักช้อป‘ทัวร์จีน’

พัฒนาแบรนด์ดึงนักช้อป‘ทัวร์จีน’

ปี 2560 และ 2561 “ไชน่า ทัวริสซึ่ม อะคาเดมี” คาดการณ์ว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศ (เอาท์บาวด์) 128 ล้านคน และ 134 ล้านคน ตามลำดับ ขยายตัวเพียง 5% แต่อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นฐานขนาดใหญ่ทำให้เป็นตลาดที่ไม่อาจมองข้าม

   แต่สิ่งที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเร่งปรับตัวมากกว่าคือ การกระตุ้นกำลังซื้อทดแทนการเติบโตเชิงปริมาณที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ “กรุ๊ปทัวร์” ที่ต้องปรับกลยุทธ์มองการขายรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปจากการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ และรู้เท่าทันการใช้จ่ายสินค้ามากขึ้น

สุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า นับตั้งแต่การจัดระเบียบทัวร์ผิดกฎหมายในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 ถึงปัจจุบัน แม้ว่านักท่องเที่ยวผ่านกรุ๊ปทัวร์จะเริ่มฟื้นตัวจนอัตราติดลบเหลือ 10% เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือ การใช้จ่ายที่อาจจะลดลง สวนกระแสกับตลาดเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่ขยายตัวทั้งปริมาณและการจับจ่าย

ปกติบริษัทนำเที่ยวจะมีรายได้เสริมจากการทำทัวร์จีนจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ การชอปปิง และโปรแกรมทัวร์เสริม โดยเฉพาะการชอปปิงที่ยอดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 1.5 หมื่นบาท/คน จาก 5-6 ร้าน แต่ในปีนี้ลดเหลือ 7,000-8,000 บาท จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ผู้นำทัวร์หรือมัคคุเทศก์จำหน่ายสินค้าเองมากขึ้น และอีกปัจจัยที่ต้องจับตามองมากกว่าคือ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตลาดช่องออนไลน์มีมากขึ้น ทำให้ “รู้เท่าทัน” สามารถตรวจสอบราคาและคุณภาพของสินค้าที่เหมาะสมได้ และกระแสการใช้จ่ายในจีนเปลี่ยนมาชอปปิงผ่านออนไลน์สูง ส่งผลต่อเนื่องต่อพฤติกรรมใช้จ่ายต่างประเทศด้วย

แต่สังเกตว่าทำไมธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี เช่น คิงพาวเวอร์ ยังมียอดซื้อตลาดจีนเติบโต ทั้งที่เทียบสินค้ากับที่ขายภายนอกร้านค้าแล้วก็ยังราคาแพงกว่า เป็นเพราะตลาดจีนยังตอบสนองต่อสินค้าที่มีแบรนด์สูงมาก”

ทั้งนี้ ตลาดเอาท์บาวด์จากจีนทั้งหมด กลุ่มที่เดินทางไปเที่ยวยุโรปและสหรัฐ ยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มที่เดินทางไปเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่นักท่องเที่ยวประเภทกรุ๊ปทัวร์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ย 9.6 หมื่นหยวนต่อปี (ราว 4.78 แสนบาท) ต่ำกว่ากลุ่ม FIT ที่ส่วนใหญ่เกิน 1.2 แสนหยวนขึ้นไป (5.98 แสนบาท)

สุรวัช กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้การกระตุ้นรายได้ไม่สูงเท่าที่ควร เพราะไทยยังขาดการยกระดับมาตรฐานสินค้าที่มี “แบรนด์” น่าเชื่อถือ และทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าต้องจับจ่าย เช่น ธุรกิจจิวเวลรี่และเครื่องประดับ ส่วนใหญ่จะมีชื่อเสียงในระดับร้านค้าเท่านั้น แต่ยังไม่มีการรับรู้ตัวแบรนด์ที่แข็งแรงมากพอ ดังนั้น หากจะยกระดับรายได้ให้ยั่งยืนในระยะยาว ต้องพัฒนามาตรฐานสินค้าพร้อมกับทำให้แบรนด์แข็งแกร่ง สามารถเทียบเคียงสินค้าแบรนด์ต่างประเทศ

นักท่องเที่ยวจีนยังติดสินค้าแบรนด์ พร้อมจับจ่ายแม้ราคาแพง การเข้าแถวร้านเครื่องประดับหรือสินค้าแบรนด์เนมในประเทศต่างๆ รวมถึงในไทยยังมีให้เห็น ทั้งที่หากเจาะลึกถึงแหล่งการผลิตสินค้าแบรนด์ดังเหล่านั้น พบว่าบางผลิตภัณฑ์มาจากฝีมือแรงงานและต้นกำเนิดในไทย”

ที่ผ่านมาบริษัทคู่ค้าในจีนทราบข้อมูลเหล่านี้ และสะท้อนให้ฟังว่าไทยเสียโอกาสมาก เพราะวางตำแหน่งตัวเองเป็นเพียง โออีเอ็ม (Origianl Equipment Manufacturer) รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์นอก ทั้งที่หากพัฒนาตัวเอง และนำเสนอขายเองจะมีโอกาสทำรายได้อีก โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ที่มีลูกค้าในมือที่ชื่นชอบในเสน่ห์ของประเทศไทย สินค้าไทย

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจน ททท. คาดว่าปี 2561 จะสร้างรายได้ให้ไทย  5.61 แสนล้านบาท เติบโต 10.5%  ใช้จ่ายเฉลี่ย 5.5 หมื่นบาท/คน/ทริป เพิ่มขึ้น 4.38%

วิชิต ประกอบโกศล นายกแอตต้า กล่าวว่า ท่องเที่ยวไตรมาส 3 สำหรับตลาดจีน คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และจะโตสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้าย โดยในเดือน พ.ย.เตรียมเข้าไปตอกย้ำการทำตลาดกรุ๊ปทัวร์ใน 2 เมือง ได้แก่ ชิงเต่า และซีหนาน ทางภาคเหนือของจีน เนื่องจากมีความพร้อมจากเที่ยวบินประจำ และเป็นตลาดที่ต้องการเดินทางมาไทยสูง และมีศักยภาพในการใช้จ่าย

เชื่อว่าตลาดจีนยังมีโอกาสฟื้นตัวมสูงในปีนี้ ซึ่งอยากให้ดูตัวเลขในภาพรวมที่มีตลาด FIT ด้วย จะเห็นถึงความต้องการมาไทยมาก แม้ว่าการเดินทางผ่านกรุ๊ปทัวร์ของสมาชิกแอตต้าจะยังไม่กลับมาเป็นบวกก็ตาม โดยในปีนี้ไม่มีปัจจัยที่เป็นผลกระทบใหญ่ แม้จะมีปัญหาน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็ไม่ใช่จุดหมายหลักที่ชาวจีนนิยม”