จี้ 'นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว' เร่งขึ้นทะเบียน

จี้ 'นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว' เร่งขึ้นทะเบียน

"สภาหอการค้า" จี้ "นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว" เร่งขึ้นทะเบียนก่อนหมดเวลา หวั่นถูกดำเนินคดีตามกม. ระบุเอกชนจะไม่ช่วยเรียกร้องให้รัฐผ่อนผัน เหตุช่วยเต็มที่แล้ว

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงแรงงาน ได้เปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 11 ศูนย์ และกระจายทั่วประเทศ 100 ศูนย์ ซึ่งดำเนินการตามมาตรการบรรเทาปัญหาผลกระทบจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อเปิดให้บริการแก่นายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ใน 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ระหว่างวันที่24 ก.ค.-7 ส.ค.นี้ ซึ่งจากการที่ภาคเอกชนสังเกตุสถานการณ์ศูนย์รับแจ้งฯ พบว่า ยังมีผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานมายื่นความจำนงในการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริง จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการผลักดันให้ผูประกอบการ และกลุ่มประชาชนที่จ้างแรงงานต่างด้าว เช่น ผู้ให้บริการตามบ้าน ลูกจ้างร้านค้าแผงลอยต่างๆ รีบมาแสดงเจตจำนงในการขอใช้แรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยหากไม่รีบมาปฎิบัติตามมาตรการของรัฐ ภาคเอกชนจะไม่มีข้อเรียกร้องใดๆไปยังภาครัฐอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาถือว่าได้เอื้ออำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่แล้ว

"หอการค้าฯ เป็นห่วงยอกขึ้นทะเบียนที่ยังไม่มาก และต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยเรียกร้องนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวมากกว่า 1 คนขึ้นไป เร่งขึ้นทะเบียนผ่านศูนย์ฯ 100 แห่งทั่วประเทศ ก่อนสิ้นสุด 7 ส.ค.นี้ โดยเฉพาะแรงกลุ่มผู้ให้บริการตามบ้าน ที่น่าจะมีจำนวนมากกว่าที่มาขึ้นทะเบียน ซึ่งเอกชนมองว่า แรงงานต่างด้าวในไทยน่าจะมีมากถึง 2 ล้านคนทั่วประเทศ ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอ คาดว่ามีถึง 3 ล้านคน" นายพจน์ กล่าว

นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของศูนย์รับแจ้งระหว่างวันที่ 24ก.ค-3ส.ค.2569 มีนายจ้างยื่นคำขอ จำนวน 113,374 (ยื่นที่ศูนย์ฯ 104,415 ราย ลงทะเบียนออนไลน์ 8,959 ราย) เป็นลูกจ้างต่างด้าว 396,390 คน แยกเป็นกัมพูชา 107,504 คน, ลาว 54,144 คน, เมียนมา 234,742 คน

ทั้งนี้ ประเภทกิจการที่มีการยื่นคำขอสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เกษตรและปศุสัตว์ 91,570 คน รองลงมาคือ กิจการก่อสร้าง 77,917 คน, จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 36,667 คน, การให้บริการต่างๆ 28,983 คน และกิจการต่อเนื่องจากเกษตร 25,268 คน โดยจังหวัดที่มีมาแจ้งมากที่สุด 5 อันดับ คือ กรุงเทพฯ 84,957 คน รองลงมาคือ สมุทรปราการ 22,974 คน,ระยอง 19,821 คน, ปทุมธานี 19,571 คน และเชียงใหม่ 16,325 คน

"กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจะมีผู้ประกอบการมาใช้บริการผ่านศูนย์ฯ วันละ 2,000 คน แต่มาให้บริการจริงเพียง700-800 คน ซึ่วหวังว่าอีก 4 วันที่เหลือจะได้ตามเป้า 8แสน-1ล้านคน " นายวรานนท์ กล่าว