‘สตาร์ทอัพ-คน-เทคโนโลยี’  การเรียนรู้สู่วิถี‘Seekster’

‘สตาร์ทอัพ-คน-เทคโนโลยี’   การเรียนรู้สู่วิถี‘Seekster’

บิสิเนส โมเดล นี้จะทำให้เราเติบโตได้เร็วกว่านี้อีกหลายเท่า

Seekster เริ่มจากผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนของ Seekster ประกอบด้วย ซาฮิบ อนันต์ทรงวิทย์ CEO และผู้ก่อตั้ง ดูในเรื่องของไดเร็คชั่นและวิชั่นธุรกิจ , ชัชนาท (โจแซด) จรัญวัฒนากิจ CMO และผู้ร่วมก่อตั้ง รับผิดชอบด้าน Digital marketing, HR, Operation และอีกคนซึ่งเป็น CTO ดูแลเกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งหมด

15 เดือนของการเดินทาง Seekster แพลตฟอร์มด้านบริการความสะอาดและซ่อมแซมให้กับบ้าน คอนโด และ ออฟฟิศ เรียกว่าไม่ง่าย

จากสิ่งที่คิดเอาไว้ในก้าวแรกว่าอยากให้แพลตฟอร์มนี้เป็นที่รวมของทุกเซอร์วิส ตั้งแต่ ซ่อมแซม, ปรับปรุง และ ทำความสะอาดบ้าน ไปจนถึง เสริมสวย งานอีเวนท์ ช่างภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ และติวเตอร์ แต่ในวันนี้กลับแตกต่างออกไป

“ ที่คิดไว้ตอนแรกๆ เราจะเป็นศูนย์กลางบริการทุกอย่าง ติวเตอร์ ช่างภาพ อีเวนท์ ทำเล็บ ทำผม อยากเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยคิดถึงบริการ ต้องคิดถึง seekster

หลังจาก 4 เดือนแรกแล้ว เราได้เรียนรู้เยอะมาก มีทั้งการเปลี่ยน Business model ใหม่ เปลี่ยนโปรดักท์กันมาหลายรอบ” ซาฮิบ อนันต์ทรงวิทย์ CEO และผู้ก่อตั้ง กล่าว

ในที่สุดทีมงานก็ค้นพบว่าการ “โฟกัส” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดทำให้จากเดิมแพลตฟอร์มนี้รองรับบริการที่หลากหลายมาสู่ลู่วิ่งที่คิดว่าเป็นโอกาสและมีตลาดใหญ่รองรับ นั่นคือ ด้านบริการความสะอาดและซ่อมแซมให้กับบ้าน คอนโด และ ออฟฟิศ

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการปรับ Business Model และโปรดักท์ใหม่ ก็คือ อัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงเดือนแรกๆ มีงานเพียง 30-50 งานต่อเดือนเท่านั้น ต่างจากในตอนนี้มีปริมาณงานต่อวันอยู่ที่ 150-200 งาน หรือคิดเป็น 5,000-6,000 งานต่อเดือน

จำนวนผู้ให้บริการจากตอนแรกมีเพียง 20 คนวันนี้เติบโตถึง 1,300 ผู้ให้บริการรวมทั้งแม่บ้านกับช่าง

การเติบโตที่เกิดขึ้น สองผู้บริหารจาก Seekster ย้ำว่าเกิดจากการเรียนรู้ใน 3 เรื่องสำคัญ นั่นคือ “สตาร์ทอัพ-คน-เทคโนโลยี”

“มันเป็นเรื่องการหาความต้องการของตลาด เป็นเรื่องที่เราเรียนรู้ว่า การทำสตาร์ทอัพคือการตอบโจทย์ ถ้าเลือกโจทย์ผิดก็ตอบไม่ถูกสักที ถ้าตอบถูกแต่เป็นโจทย์ที่ผิดก็เป็นธุรกิจที่ไปไม่รอด

จากที่เห็นๆ มา สตาร์ทอัพหลายๆ ราย เราเห็นว่าไม่เวิร์ค แล้วผ่านไป 3 เดือนก็พบว่าไม่รอดจริงๆ เพราะเอาไอเดียขึ้นนำ คิดว่าอยากจะทำ แล้วก็ทำ แต่ไม่รู้ว่ารองรับดีมานด์มั้ย ขณะที่สตาร์ทอัพอีกกลุ่มจะมองหาปัญหาก่อนแล้วก็ตอบโจทย์นั้นๆ” ชัชนาท กล่าว

อีกเรื่องที่ Seekster เรียนรู้เกิดในฝั่งของเทคโนโลยี

โลกเทคโนโลยี โลกยุคใหม่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เน้นการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี เรียนรู้ให้เร็ว และใช้งานให้เร็ว

“เทคโนโลยียังเข้ามาช่วยในการวัดผลได้ในทุกๆ เรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องทำ ไม่ใช่ควรทำ เพื่อให้ว่าคุณรู้ในธุรกิจคุณมากน้อยขนาดไหน

ที่สำคัญ การวัดผล จะนำไปสู่การแก้ไข ธุรกิจส่วนใหญ่มักจะวัดผลกันเป็นรายเดือน รายไตรมา แต่สำหรับเรารายสองวันก็ต้องเปลี่ยนแล้ว สำหรับดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เช่น การยิงแอดโฆษณาออกไป ต้องรู้แล้วว่าเวิร์ค หรือไม่เวิร์ค เพื่อใช้เงินให้น้อยที่สุด ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด”

แนวทางสุดท้าย เป็นเรื่องการบริหารจัดการ “คน”

จากทีมงาน 3 คนในยุคก่อตั้งวันนี้ขยายทีมงานเป็น 13 คน เฉลี่ยอายุไม่เกิน 27 ปี ถือเป็นอีกบทเรียนที่สำคัญในการทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการ

ในมิตินี้ไม่เพียงแต่การบริหารจัดการทีมงานเท่านั้นแต่ยังมีในฝั่งผู้ให้บริการและลูกค้าด้วยที่ต้องดูแล

“เราเริ่มมาจาก 3 ตอนนี้ทีมเรา 13 คน ซึ่งตอนสเกลงาน เราต้องมีความรับผิดชอบทีมเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารในเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย”

สำหรับ ซาฮิบ แล้วมองว่า การบริหารคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะมีเรื่องการบริหารความคาดหวัง ข้อร้องเรียนต่างๆ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ตรงนี้ถือเป็น Learning curve ที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการต้องบริหาร Stakeholders ที่มีทั้งทีมงาน ผู้ให้บริการ ลูกค้า รวมถึงนักลงทุน

“ผมมั่นใจว่า Business model ที่เปลี่ยนมาแล้วทำให้เรามีจุดที่มั่นใจว่าจะเติบโตได้เร็วกว่านี้อีกหลายเท่า พร้อมๆ กับมองถึงโอกาสที่จะสเกลได้ในเมืองอื่น ในระดับความเร็วที่มากกว่าคู่แข่งทำได้

ที่สำคัญที่สุด เราจะสร้างรายได้ที่เลี้ยงตัวเองได้ ด้วยการถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในปีนี้

โดยยังคงวางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มด้านบริการความสะอาดและซ่อมแซมให้กับ บ้าน คอนโด ออฟฟิศ ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี 40% และอีก 60% เป็นกลุ่มบ้านที่พักอาศัย 

ซึ่งแผนงานต่อไปเราอยากจะโฟกัสตลาด B2B ให้มากขึ้นโดยใช้คุณภาพเป็นตัวนำ"ซีอีโอ Seekster กล่าว

มองเป้าหมายที่การเติบโต 

การเข้าเป็น 1 ใน 12 ทีม ดีแทค แอคเซอเลอเรท Batch 5 จากจำนวนทีมที่สมัครมากว่า 500 ทีม

และการคว้ารางวัลที่ 2 จากการเข้าร่วมเป็น 1 ใน 10 ทีม Batch Zero ที่จัดโดย ดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทผู้พัฒนาฟินเทคในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมรับเงินสนับสนุน 150,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5,250,000 บาท

ประสบการณ์การจากการเข้าร่วม แอคเซอเลอเรท จากทั้ง 2 ค่ายนำมาซึ่งการเติบโต Seekster อย่างเห็นได้ชัด

"ถ้าฝั่ง DV ตอนที่เข้าร่วมเป็นเวลา 6 เดือน ตอนนั้น เราอยู่ในช่วงฟักไข่ก็ว่าได้  แรกๆที่เข้าโปรแกรมเรายังไม่มีแอพ เทียบกับตอนนี้มีแอพแล้ว เราได้เรียนรู้ในเรื่องของ Product/market fit อย่างมาก

ส่วน ดีแทค ใน 4 เดือนของการเข้าโครงการ  เราคาดหวังเรื่องการสเกล พร้อมจะเรียนรู้เรื่องนี้อย่างเดียวเลย 

หลังจากเรามีของดีอยู่แล้ว ก็ไปเรียนรู้ว่า ทำอย่างไรจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยความยาก คือการทำมาร์เก็ตติ้ง ในสองทางทั้งฝั่งโปรวายเดอร์ และลูกค้า" ชัชนาท จรัญวัฒนากิจ