‘ดับเบิลยูทีทีซี’คาด10ปีไทยโกยรายได้ 5.9ล้านล้าน

‘ดับเบิลยูทีทีซี’คาด10ปีไทยโกยรายได้ 5.9ล้านล้าน

ในปีนี้ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย. ไทยได้รับเลือกจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (ดับเบิลยูทีทีซี) ให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานใหญ่ประจำปี

การประชุมสุดยอด “ดับเบิลยูทีทีซี โกลบอล ซัมมิท” ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำบทบาทแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเวทีนานาชาติ

ก่อนจะถึงช่วงเวลาดังกล่าว เดวิด สโคว์ซิลล์ ประธานดับเบิลยูทีทีซี เปิดเผยมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หลังจากที่ได้จัดทำรายงานวิเคราห์สถานการณ์ WTTC’s Economic Impact Report สำหรับการท่องเที่ยวในปี 2559 และ 2560 รวมถึงประเมินแนวโน้มรอบทศวรรษต่อไป ที่ปรากฎผลสะท้อนถึงทิศทางที่สดใสของท่องเที่ยวไทยต่อเนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมา ที่ยังไต่ระดับสร้างรายได้ขยายตัวติดต่อกัน โดยอาจมีช่วงสะดุดเล็กน้อยเท่านั้นในปี 2557

สโคว์ซิลล์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญ และเริ่มวางแผนจริงจังในด้านการส่งเสริมและขยายอุตสาหกรรมนี้ ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมในระยะ 5 ปี ที่มีเนื้อหาและรายละเอียดที่ชัดเจน ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับแนวโน้มการเติบโตที่ “ต่อเนื่องและยั่งยืน”

สอดคล้องกับรายงานของ ดับเบิลยูทีทีซี ที่จัดทำในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งศึกษาความต้องการด้านการลงทุนในประเทศอาเซียน มีผลระบุชัดเจนว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม “future focus critical” หรือการตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม แม้ว่าปัจจุบันจัดว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่งอยู่แล้วก็ตาม 

ดังนั้นในมุมมองของดับเบิลยูทีทีซี จึงเห็นด้วยกับการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการเติบโตดังกล่าว พร้อมกับนำเสนอประเด็นชี้แนะ 3 เรื่อง เพื่อให้ไทยยังรักษาระดับเติบโตยั่งยืน ได้แก่ การสนับสนุนการเติบโตของห้องพักโรงแรม, การขยายสนามบิมนานาชาติรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานใหม่ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ให้ทันสมัยและมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างฐานตลาดใหม่ และรักษาส่วนแบ่งเดิมไม่ให้เพลี่ยงพล้ำต่อคู่แข่ง

“ประเทศไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ยืดหยุ่นได้สูง แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีผลกระทบจากการเมือง และการก่อการร้าย แต่อุตสาหกรรมนี้ยังขยายตัวรวดเร็ว สร้างรายได้ให้กับประเทศได้กว่า 2.9 ล้านล้านบาท เติบโตกว่า 10.7% หรือเท่ากับ 20.6% ของจีดีพีประเทศ และคาดว่าในปีนี้สัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวต่อจีดีพีจะยังเติบโตได้กว่า 9.4% พร้อมทั้งมั่นใจว่าค่าเฉลี่ยของ 10 ปีต่อไปนี้ ไทยจะรักษาระดับการขยายตัวในเกณฑ์กว่า 6.5% ต่อเนื่องทุกปี จนมีมูลค่าแตะระดับ 5.9 ล้านล้านบาท (ราว 169.9 พันล้านดอลลาร์) หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของจีดีพีรวมในอีก 10 ปีต่อไปด้วย”

ด้วยขนาดทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวดังกล่าว ทำให้ไทยรั้งอันดับ 15 จาก 185 ประเทศ เมื่อพิจารณาจากมูลค่ารายได้ต่อจีดีพี และอยู่ในอันดับ 35 จาก 185 ประเทศ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับขนาดของภาคการบริการ

อีกประเด็นที่ระบุชัดว่าไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นของการท่องเที่ยว คือการเป็นจุดหมายที่ดึงดูดตลาดต่างประเทศจำนวนมาก ในปี 2559 มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เติบโตกว่า 13% หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 19.2% ของรายได้จากการส่งออกสินค้าและสินค้าบริการทั้งหมดของไทย และคาดว่ารายได้จากต่างประเทศในปีนี้จะเพิ่มได้อีก 10.3% ซึ่งถือเป็นสัญญาณตอกย้ำให้ไทยยิ่งต้องเตรียมจัดแผนรองรับผลกระทบของการท่องเที่ยวที่เกิดกับชุมชน สิ่งแวดล้อมและแหล่งมรดกต่างๆ ไว้ด้วย

นอกจากนั้น ตามการคาดการณ์ระหว่างปี 2560-2570 รายได้จากต่างประเทศยังมีโอกาสเติบโตเฉลี่ยอีกถึง 7.3% ต่อปี จนกระทั่งมูลค่ารวมสูงถึง 4.2 ล้านล้านบาท (ราว 119.5 พันล้านดอลลาร์) หรือเท่ากับ 29.7% ของมูลค่าการส่งออกรวมในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการประเมินว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.3% เท่านั้น

จากรายงานฉบับใหม่ WTTC ดับเบิลยูทีทีซี ยังระบุด้วยว่า ในปี 2559 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีส่วนกระตุ้นให้มีการจ้างงานทั้งตรงและทางอ้อมกว่า 5.7 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 15.1% ของการจ้างงานรวมในประเทศทั้งหมด และในปีนี้ยังจะเพิ่มอีก 6.9% เป็น 6.1 ล้านตำแหน่ง ก่อนจะขยายตัวเฉลี่ยได้อีกปีละ  4.6% ต่อเนื่อง จนครอบคลุม 9.6 ล้านตำแหน่งได้ในปี 2570 หรือครองส่วนแบ่งกว่า 24.98% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศด้วย โดยสรุปก็คือ ไทยยังมีความต้องการบุคลากรเสริมกำลังในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกกว่า 3.9 ล้านอัตราในรอบ 10 ปีต่อไปนี้

ขณะที่การลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ มีมูลค่ากว่า 2.45 แสนล้านบาท (ราว 7 พันล้านดอลลาร์) หรือประมาณ 7.1% ของการลงทุนทั้งหมดในประเทศ และจะยังขยายตัวได้อีกราว 5.5% ต่อปี จนมีมูลค่า 4.62 แสนล้านบาท (ราว 1.31 หมื่นล้านดอลลาร์) ในรอบทศวรรษต่อไปนี้

ไม่เพียงแต่การเติบโตของตลาดขาเข้าเท่านั้น แต่ตลาดเอาท์บาวด์ (คนไทยเที่ยวต่างประเทศ) ในปีที่ผ่านมาก็ขยายตัวกว่า 10.7% สะท้อนถึงความพร้อมด้านการใช้จ่าย และความต้องการไปเปิดหูเปิดตาด้วยใช้วิธีการเดินทางเป็นเครื่องมือมากขึ้น

สำหรับผลการศึกษาผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของรายงานฉบับดังกล่าว พบด้วยว่า ในปีที่ผ่านมามูลค่าการท่องเที่ยวทั่วโลกเติบโตกว่า 3.3% หรือคิดเป็นรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันกว่า 10.2% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยจีดีพีทั่วโลก ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 292 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของตลาดแรงงานทั่วโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจะขยายตัวอย่างมหาศาลเป็น 380 ล้านตำแหน่งในอีก 10 ปีข้างหน้า

นอกจากไทยที่มีการเติบโตโดดเด่นในปีที่ผ่านมา ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นจุดหมายที่ขยายตัวสูงสุดกว่า 8.3% ได้อานิสงส์จากการรองรับ “ตลาดจีน” เป็นหลัก ขณะที่ภูมิภาคซึ่งขยายตัวต่ำที่สุดได้แก่ ละตินอเมริกา ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้เติบโตเหลือเพียง 0.2% เท่านั้น