เจน2‘เจเอสแอล’ชูธุรกิจใหม่เสริมพอร์ต

เจน2‘เจเอสแอล’ชูธุรกิจใหม่เสริมพอร์ต

“เจเอสแอล” เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ที่มีประสบการณ์มายาวนาน เตรียมฉลองครบรอบ 38 ปีในเดือน พ.ย.นี้

พร้อมวิชั่น Life Content Designer ภายใต้การนำทัพของผู้บริหาร “เจเนอเรชั่น2”  

หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจในปี2559  หนึ่งในผู้บริหาร“เจน2” กรินทร์ ชูพินิจ ทายาทของ“ลาวัลย์ กันชาติ” ผู้ร่วมก่อตั้งเจเอสแอล ได้รับบทบาทใหม่ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด  

กรินทร์  เล่าว่าการทำงานในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ คือการมองหาและพัฒนา“นิว บิซิเนส”เพื่อกระจายความเสี่ยงจากพอร์ตธุรกิจทีวี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเจเอสแอลมา 38 ปี  และช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทีวีเปลี่ยนแปลงสูง จากการเริ่มต้นออกอากาศทีวีดิจิทัล“ช่องใหม่” 

“เชื่อว่าธุรกิจทีวี ยังไปได้ แต่ไปไม่เหมือนเดิม” จากจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันสูง

ดังนั้นจึงมองโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ภายใต้กลยุทธ์“พาร์ทเนอร์ชิพ”ซึ่งเป็น DNA ของเจเอสแอล ที่จะใช้ทำงานกับทุก“คู่ค้า” ทุกบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นหัวใจในการทำงานของเจเอสแอล ทั้งฝั่งทีวีธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ดัง “เอไอ ไทยแลนด์” และธุรกิจใหม่ 

ธุรกิจเดิมของเจเอสแอล ทำงานผ่าน“มีเดีย”ในทุกช่องทาง แต่ธุรกิจใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรเจค จะวิ่งตรงไปที่ End User มองโจทย์ความต้องการของ“ผู้บริโภค”เป็นหลัก 

ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาโปรดักท์ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม โดยใช้“จุดเด่น”บนพื้นฐานของการเป็น“พันธมิตร”ร่วมกัน และสามารถใช้ธุรกิจหลักเจเอสแอลมาสนับสนุน  คาดว่าจะเห็นผลงานธุรกิจใหม่ในราวไตรมาส 3 

แนวคิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ คือการร่วมกันทำงานกับ “พาร์ทเนอร์”โดยใช้จุดเด่นของแต่ละฝ่ายมาสร้างเป็นจุดแข็งให้นิว บิซิเนส  การทำงานของเจเอสแอล ตลอด 38 ปี นับตั้งแต่รุ่นแม่ถึงรุ่นลูก ถือเป็นเครื่องมือ“ยืนยัน”ได้ว่า เราเป็น“พาร์ทเนอร์”ที่ดี ที่จะแบ่งปันความสำเร็จและเติบโตไปพร้อมกัน

"หากเจเอสแอล สามารถสร้างอีกธุรกิจที่มีภูมิต้านทาน หรือมีอีกแหล่งรายได้ เชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงให้องค์กรได้ หากธุรกิจหลักทีวี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้"

กรินทร์ กล่าวว่าหลักการทำงานเรื่อง “พาร์ทเนอร์” เป็นกลยุทธ์ ที่เจเอสแอล นำมาใช้บริหารธุรกิจทีวี ในช่วงที่ผ่านมา  สะท้อนจากจุดเริ่มต้นในธุรกิจทีวียุคแรก สัดส่วนรายได้หลัก 90% มาจากการเป็นเจ้าของรายการ ในสถานีฟรีทีวีช่องต่างๆ คือ “ผลิตและขายโฆษณา”เอง

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหรือเริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัล เริ่มกระจายความเสี่ยงด้วยการเป็น “พาร์ทเนอร์” กับผู้ผลิตคอนเทนท์และสถานีทีวีช่องต่างๆ ในรูปแบบการรับจ้างผลิต ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากรายการที่ผลิตและขายโฆษณาเองอยู่ที่ 50%  อีก 50% มาจากการรับจ้างผลิตและโมเดล พาร์ทเนอร์ การร่วมทุนกับผู้ผลิตรายอื่น โดยเฉพาะ“บุคลากร”ที่มีความสามารถ และต้องการก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตรายการทีวี 

รูปแบบการทำงานร่วมกันพันธมิตรในฐานะคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ของเจเอสแอล  มีรูปแบบการทำงานที่หลากหลายทั้งการผลิตคอนเทนท์ทีวี รวมทั้งช่องทางอื่นๆ ทั้งอีเวนท์ ช่องทางออนไลน์  ภายใต้คอนเซปต์ การให้บริการแบบ One Stop Shop ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะเลือกใช้บริการด้านใด

ตัวอย่างการทำงานร่วมกับพันธมิตร“ผู้ผลิตรายการ” เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์ ซึ่งเริ่มต้นจากการทำหน้าที่ ผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ “เปอร์”มีความพร้อม จึงก้าวสู่การจับมือร่วมทุนเป็นพันธมิตร จัดตั้งบริษัทแบล็ค ดอท จำกัด ผลิตรายการทีวีร่วมกัน ถือเป็นหนึ่งในนิว บิซิเนส ที่เจเอสแอล พัฒนาขึ้น จากเดิมที่มองเพียงการจ้างบุคลากร สู่โมเดลธุรกิจที่เป็น “เจ้าของร่วมกัน”

ในยุคที่เทคโนโลยี สามารถพัฒนาธุรกิจใหม่ได้อย่างรวดเร็ว พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใคร แต่มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจจากความสามารถและเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย  ดังนั้นบิซิเนส โมเดล “การเป็นเจ้าของร่วมกัน” จึงถือเป็นส่วนผสมที่ดีระหว่างความสามารถ ไอเดีย ของคนรุ่นใหม่ กับประสบการณ์และคอนเนคชั่นที่เจเอสแอล สั่งสมมา 38 ปี  ที่พร้อมทำงานในฐานะ"พี่เลี้ยง”

“เจเอสแอล เรียนรู้ผิดถูก มา38 ปี การทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ จึงช่วยลดความผิดพลาดและก้าวสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น”

อีกตัวอย่างที่สะท้อนการเป็น“พาร์ทเนอร์” ของบริษัทในเครือ “เอไอ ไทยแลนด์” ที่ดำเนินธุรกิจบริหารไลเซ่นส์การ์ตูนดังต่างประเทศ การทำงานร่วมกับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็น “โรงงานหรือผู้ผลิตสินค้า” จะวางกรอบตั้งแต่แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เพื่อสร้างโอกาสการขายสินค้าสูงสุดให้คู้ค่า 

"เราไม่ได้สนใจค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่ได้รับจากผู้ซื้อไลเซ่นส์ แต่มองไปที่ส่วนแบ่งรายได้จากยอดขาย ดังนั้นการทำงานจะต้องทำให้คู่ค้า ขายสินค้าให้ได้มากที่สุด"

ดังนั้นการเลือกพันธมิตรของเอไอ จะมองผู้ผลิตที่มีศักยภาพและคุณภาพ หากคู้ค่าที่ไม่มีหน่วยงานครีเอทีฟและพัฒนาสินค้า เอไอฯ จะทำหน้าที่ดังกล่าวแทน รวมทั้งงานด้านการตลาด และประชาสัมพันธ์  เพราะการช่วยให้พันธมิตรมีงานสร้างสรรค์ที่แตกต่าง และสามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดเอไอฯ จะได้ผลตอบกลับจากส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

“เมื่อสินค้าดีมีคุณภาพ ทำให้ภาพลักษณ์ลิขสิทธ์การ์ตูนที่เอไอฯ ดูแล ได้ผลตอบรับดีตามไปด้วย"

ปัจจุบันมองว่าเป็นยุคของพันธมิตร ไม่ใช่แบบ B2B หรือ B2C แต่ F2F (friend to friend) เพราะความเป็นเพื่อนจะทำงานได้หลากหลายรูปแบบ

ปั้นออนไลน์แพลตฟอร์ม

ในยุคที่ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยสัดส่วนกว่า 60% ของประชากรไทย ถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ “เจเอสแอล” มองโอกาสพัฒนาธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคและโอกาสขยายธุรกิจ

กรินทร์ กล่าวว่าปัจจุบันช่องทางออนไลน์หลักเจเอสแอล คือ “ยูทูบ แชนแนล” มีผู้ชมติดตามเป็นสมาชิกราว 1 ล้านราย มียอดสะสมกว่า 400 ล้านวิว  ปีนี้จะขยายการทำงานร่วมกับทุกดิจิทัล แพลตฟอร์มมากขึ้น

พร้อมทั้งเตรียมเปิดตัว“ออนไลน์ แพลตฟอร์ม”ที่เจเอสแอล พัฒนาขึ้นเอง วางคอนเซปต์เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต กิน ดื่ม ช้อป เที่ยว แชท และอีคอมเมิร์ซ ของผู้คนใยยุคนี้ 

โดยจะเชื่อมโยงการนำเสนอสินค้าและบริการ จากคอนเทนท์ทีวี มายังออนไลน์ แพลตฟอร์ม เช่น การคลิกซื้อเสื้อผ้า จากนักแสดงที่ใส่ในรายการทีวี พร้อมรับโปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษ ผ่านออนไลน์ แพลตฟอร์ม  โดยใช้ โซเชียล มีเดีย ยอดฮิตเฟซบุ๊คเพจ เป็นช่องทางโปรโมท เป็นการผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์   หน้าที่ของออนไลน์ แพตฟอร์ม คือ สร้างทราฟฟิค ให้กับเซอร์วิส ที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าของเจเอสแอล

"เรามั่นใจในจุดแข็ง คอนเทนท์ที่สามารถสร้างทราฟฟิคได้ โดยจะพัฒนาคอนเทนท์รูปแบบใหม่ เพื่อนำเสนอเฉพาะ ออนไลน์ แพลตฟอร์ม"

ในโลกการค้ายุคใหม่ เทคโนโลยี ถือเป็นพื้นฐานที่ทุกคนตามกันทัน แต่จุดที่เหนือกว่า คือไอเดียและความเป็นพาร์ทเนอร์