‘ปิยะ ตันติเวชยานนท์’เกมปั้น 'ซุปเปอร์ริช' สู่สากล

‘ปิยะ ตันติเวชยานนท์’เกมปั้น 'ซุปเปอร์ริช' สู่สากล

5 ทศวรรษแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ‘ซุปเปอร์ริช’แบรนด์ความหมาย‘ยิ่งใหญ่และร่ำรวย’ ‘ซื่อสัตย์’ คือหัวใจธุรกิจ...เงินๆทองๆ ‘ปิยะ ตันติเวชยานน'

หลายคนอาจสงสัย ทำไมร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบรนด์ “SuperRich” ถึงมีมากมายหลายสีทั้ง สีส้ม สีเขียว กระทั่งสีฟ้า เป็นเจ้าเดียวกันหรือไม่ ใครต้นตำรับ  คำถามเหล่านี้ถูกไขให้กระจ่าง โดย “ปิยะ ตันติเวชยานนท์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์เชนจ์ (1965) จำกัด ทายาทคนสำคัญของผู้ก่อตั้ง “ซุปเปอร์ริช”

เขาให้คำตอบ “กลางๆ” ว่าแบรนด์เดียวกันแต่สีต่างกันเหล่านั้น ล้วนเป็น “เครือญาติ” หากเปรียบซุปเปอร์ริชสีส้มเป็นภูเขา เป็นธรรมดาย่อมมีต้นไม้แตกกิ่งก้านสาขา สายน้ำแยกไปหลายสาย และทุกร้านยังติดต่อประสานงานกันเสมือนเป็น “คู่ค้า” มากกว่า “คู่แข่ง”

คนไทยเชื่อสายจีนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับวันปีใหม่จีนหรือตรุษจีน จะนิยมมอบส้มให้แก่กัน เพราะเป็นการให้โชคลาภ 

“สีส้ม” จึงเป็นสีที่มีความเป็นศิริมงคล เลยเลือกมาใช้กับบริษัท

ล่าสุด ยังรีแบรนด์เป็น “เอสพีอาร์ ซูเปอร์ริช“ เพราะต้องการขยับสู่การเป็นแบรนด์ระดับ ”อินเตอร์” มากขึ้น 

“เห็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ใช้ตัวย่อ ก็ขอใช้บ้าง เผื่อจะมีโอกาสได้เข้าตลาดหลักทรัพย์” เขาเล่าติดตลก และว่า แบรนด์ใหม่ยังยืนหยัดความเป็นซุปเปอร์ริช เหมือนเดิม 

สำหรับการเติบโตของธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่อิงกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว” ยิ่งยุคนี้ที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ย่อมเอื้อให้ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราเติบโต แต่ธุรกิจกลับข้อจำกัดด้าน “เงินทุน” ทำให้ต้องหา “พันธมิตร” มาร่วมหัวจมท้าย

โดยปัจจุบันซุปเปอร์ริชมีสาขาให้บริการ 30 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ครอบคลุม สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า(บีทีเอส) จังหวัดติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ให้บริการลูกค้าไทยและต่างชาติราวกับเป็นร้านสะดวกซื้อทางการเงิน และปีนี้ยังเดินหน้าขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 10 สาขา นี่คือสิ่งที่เขาโฟกัส

ส่วนพันธมิตรที่อยากได้ เขาให้น้ำหนักผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงตลาดเงินเหมือนกัน เพื่อจะได้เข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ และมาเสริมจุดแข็งด้าน “เงินทุน” พร้อมเทคโนโลยี

“เงินทุน” เป็น “หัวใจ” สำคัญมากสำหรับธุรกิจ ที่จะเพิ่มสภาพคล่องในการนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อวัน ภายใน 3 ปี จึงเร่งปรับบัญชีให้สมบูรณ์แบบตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อพร้อมเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 50 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท และเดินหน้าระดมทุน 500 ล้านบาท เพื่อมาเสริมแกร่งให้กับธุรกิจ

วันนี้ซุปเปอร์ริช ใช้เงินทุนหมุนเวียนต่อวันเฉพาะสำนักงานใหญ่มากถึง 100-200 ล้านบาท สาขาเล็กก็มีตั้งแต่ 2-10 ล้านบาทต่อวัน แต่หากได้ทุนมาเพิ่มจะหมุนเงินได้อีก 3 รอบ คิดเป็นมูลค่าราว 1,500 ล้านบาทต่อวัน ธุรกิจที่เติบโต 10-15% ในเวลานี้ จะก้าวกระโดดเป็น 100% ในอนาคต 

“ยิ่งทุนเยอะ เงินหมุนเวียนเยอะ ก็ทำธุรกรรมได้มากขึ้น อย่าลืมว่าพอซื้อเงินเข้ามาปุ๊บเราก็ขายไปแล้ว มันอยู่ที่มูลค่าการหมุน เช่น มีหน้าตัก 500 ล้านบาท เราหมุน 3 รอบ เงินสดเพิ่มต่อวันเป็น 1,500 ล้านบาท ถือว่าโตดับเบิ้ล” 

อีกเป้าหมายของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องการสร้างมาตรฐานธุรกิจเพื่อให้ต่างชาติยอมรับ

  “อยากให้ต่างประเทศเห็นว่าเราเป็นสากล” 

มาตรฐานระดับโลก ยังช่วยให้ธุรกิจแลกเงินตราของไทยอยู่รอดอย่างยั่งยืน หากอนาคตต่างชาติจะเข้ามามีบทบาทในไทย โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หรืออาเซียนบวก 3 บวก 6 ล้วนเป็นโอกาสให้ซุปเปอร์ริชเติบโตได้อีกมาก

“อยากให้ชาวต่างชาติเห็นว่าเวลาคุณเข้ามาเมืองไทย คุณมาเปลี่ยนเงินไทย ได้รับบริการที่ดี ความเป็นมาตรฐาน ให้ต่างชาติรู้ว่าเราก้าวทันโลก และนั่นยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยด้วย” 

ส่วนโมเดลธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราที่เล็งไว้เป็นต้นแบบ เขายกให้ “Travelex Group” ยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากอังกฤษ

ปี 2558 ซุปเปอร์ริชมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ 12,500 ล้านบาท เศรษฐกิจ ค่าเงินผันผวนไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบธุรกิจมากนัก เพราะเขาซื้อมาและขายไปในตลาดเงินแบบวันต่อวัน แต่ยอมรับว่า ช่วงที่สหรัฐมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน(คิวอี) ส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนตัวลงต่อเนื่อง 

“ตอนนั้นเราซื้อ(เงินตรา)มาต้องรับขายออกให้เร็ว ตอนนี้กลับกัน เทรนด์เปลี่ยน หน้าตาผมถึงยิ้มแย้มแจ่มใส” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจมองเป็นเรื่อง “ภัยก่อการร้าย”  ซึ่งมองว่าเป็นเหตุการณ์ใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ การปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงินอย่างเข้มข้น มีระบบตรวจสอบรายชื่อลูกค้าที่นำเงินตราเข้า-ออกในและต่างประเทศ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต้องยื่นพาสปอร์ต ก็เพื่อป้องกันภัยก่อการร้าย

—//—

ปล้น..!! ที่มาแบรนด์ “ซุปเปอร์ริช”

“พจมาลย์ ตันติเวชยานนท์” หญิงวัย 80 ผู้เป็นมารดาของ “ปิยะ ตันติเวชยานนท์” เผยที่มาที่ไปของแบรนด์ “ SuperRich” (ซุปเปอร์ริช) 

เกิดจากเหตุการณ์เลวร้าย “ถูกปล้น”

ในปี 1964 พจมาลย์ เล่าว่า สามีและเธอ ซึ่งขณะนั้นอายุ 28 ปี ได้เช่าอาคารพาณิชย์ที่มีใบประกอบอนุญาติทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในนาม “จิตรพาณิชย์” ทำเลที่ตั้งใกล้หับห้างไทยไดมารู ยุคนั้น 

“พ่อของปิยะสนใจธุรกิจนี้ เลยช่วยกันทำตั้งแต่ปิยะยังไม่เกิด”  เธอเล่า 

ช่วงแรกของการทำธุรกิจนั้นยาก เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศมากนัก และต้องศึกษาจากสามีอย่างใกล้ชิด

ทำไประยะหนึ่งธุรกิจถูกโจรกรรม สร้างความเสียหาย เลยคิดหาชื่อและทำเลที่ตั้งร้านใหม่ให้เป็น “ศิริมงคล” ขบคิดหาชื่อก็ได้ “SuperRich” 

ซูเปอร์หมายถึงความยิ่งใหญ่ รวดเร็ว ส่วนริช คือความร่ำรวย 

“ชื่อชื่อคิดไม่นาน คิดตามสิ่งแวดล้อมขณะนั้น เมื่อเราถูกปล้น ก็ต้องหาชื่อดีๆ มาลบสิ่งแวดล้อมร้ายๆ ที่เราเจอ หาชื่อที่แย้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอดีตกับวันนี้ เธอบอกว่า เปลี่ยนไปมาก ยุคนั้นไม่มีใครทำ และซูเปอร์ริชเป็นรายแรกๆ 

ทว่า วันนี้ มีผู้ประกอบการมากมายลุกมาจับธุรกิจเดียวกัน และใช้ชื่อเดียวกับบริษัทของเธอ กระนั้นก็ยืนยันว่า..

สิ่งที่ทำไม่ได้แข่งขันกับใคร เพราะหน้าที่ คือ ขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองไปเท่านั้น

กิจการเริ่มต้นปลุกปั้นจาก 2 สามีภรรยา วันนี้บริษัทเติบใหญ่มีพนักงานร่วม 200 ชีวิต และมีทายาท 6 คนเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว พร้อมด้วยลูกสะใภ้อีก 2 คน

ถามว่า อะไรคือหัวใจสำคัญทำให้ซุเปอร์ริชเติบโตตราบจนวันนี้ “พจมาลย์” ยกให้ “ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง” ต่อลูกค้า ทำให้เกิดการจงรักภักดีติดต่อกันมาอย่างยาวนาน

เธอยกตัวอย่าง ความซื่อสัตย์ที่บริษัทปฏิบัติต่อลูกค้า คือเมื่อมีการซื้อขายเงิน “เกิน” จะต้อง “คืน” ให้ลูกค้าทันที โดยเป็นฝ่ายโทร.แจ้งให้ลูกค้ารับทราบก่อน ก่อนที่ลูกค้าจะโทร.มาสอบถามเอง ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเสียความรู้สึก

  “ธุรกิจโตได้ เพราะเราซื่อตรง ลูกค้าเชื่อเรา เราเน้นมากในเรื่องนี้ การทำธุรกิจเกี่ยวกับเงินต้องเถรตรง คนทำงานที่นี่ต้องเห็นเงินเป็นกระดาษ ถ้าเห็นเงินเป็นเงินธุรกิจจะไปไม่นาน”