3 เทคนิค 'หากระแสเงินสด' สำหรับธุรกิจ ไม่ต้องกู้แบงก์-ไม่เสี่ยงผิดนัดชำระ

3 เทคนิค 'หากระแสเงินสด' สำหรับธุรกิจ ไม่ต้องกู้แบงก์-ไม่เสี่ยงผิดนัดชำระ

เปิด 3 กลวิธีเด็ดในการ “หากระแสเงินสด” อย่างเร่งด่วน เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจหรือเร่งขยายการเติบโต โดยไม่ต้องใช้การกู้เงินที่มาพร้อมดอกเบี้ยสูง รวมถึงไม่ต้องเพิ่มทุนที่จะสร้างเรื่องปวดหัวต่อผู้ถือหุ้น

Key Points

  • ในปี 2565 “สตาร์บัคส์” มีกระแสเงินสดมากถึง 1,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 57,000 ล้านบาทที่สามารถนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องมีต้นทุนดอกเบี้ย
  • ปัญหา “ลูกหนี้การค้า” จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของสาเหตุที่ทำให้บริษัทล่ม เพราะหากลูกหนี้การค้าผิดนัดชำระ เจ้าหนี้ก็จะไม่มีเงินสดมากพอในการบริหารกิจการ หรือชำระหนี้ผู้อื่นต่อ
  • บริษัทที่ต้องการกระแสเงินสดด่วน ไม่ต้องการรอเงินตามเครดิตเทอมที่นานเกินไป ก็สามารถขาย “บัญชีลูกหนี้การค้า” ให้บริษัทที่รับซื้อหนี้ประเภทนี้ได้ คือ บริษัทแฟคตอริ่ง


กระแสเงินสด” ถือว่าสำคัญต่อธุรกิจมาก เพราะเป็นตัวบ่งบอก “สุขภาพทางการเงิน” ของบริษัท หลายกิจการที่มีปัญหา แม้ผลประกอบการจะมีกำไรก็จริง แต่ถ้าเป็นกำไรที่ยังไม่ได้เก็บเป็นเงินสดแล้ว หากเผชิญภาวะยากลำบาก ก็มีสิทธิล้มได้โดยง่าย

ยกตัวอย่างกรณี STARK (สตาร์ค) บริษัทผลิตสายไฟอันอื้อฉาว แม้ในงบ 9 เดือน ของปี 2565 จะมีกำไรสุทธิ 2,216 ล้านบาท แต่ในรายการเงินสดสุทธิของกิจการดำเนินงาน ไตรมาส 3 ปี 2565 ผลปรากฏว่าติดลบ 1,798 ล้านบาท

หรือในกรณีล่าสุด JKN (เจเคเอ็น) บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ เผชิญปัญหาหมุนเงินไม่ทัน ไม่มีเงินสดเพียงพอในการใช้คืนหุ้นกู้ 450 ล้านบาท จนต้องผิดนัดชำระ

แม้ว่าตอนนี้ JKN จะมีเงินกว่า 581 ล้านบาทแล้ว จากการขายหุ้นสัดส่วน 50% ขององค์กรนางงามจักรวาล (MUO) ที่ JKN เป็นเจ้าของให้กับ Legacy Holding Group บริษัทโฮลดิ้งในเม็กซิโกที่ประกอบด้วยกลุ่มบริษัทจาก 12 แวดวงธุรกิจแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีหนี้หุ้นกู้ที่รอการชำระคืนในอนาคตอีกราวหลักพันล้านบาท

นี่คือตัวอย่างบริษัทบางส่วนที่มีต้นตอปัญหามาจาก “กระแสเงินสด” ไม่เพียงพอ ลองคิดดูว่า ถ้าบริษัทของพวกเราเผชิญปัญหาที่ว่านี้ จนหมุนเงินไม่ทัน หรือต้องการเงินสดมาเร่งการเติบโต โดยไม่ต้องกู้ธนาคารที่อนุมัติยุ่งยาก พร้อมให้ดอกเบี้ยที่สูงในช่วงนี้ และไม่ต้องการเพิ่มทุนที่จะสร้างความหนักใจแก่ผู้ถือหุ้น จะมีเทคนิคใดบ้างในการหากระแสเงินสดอย่างเร่งด่วน

  • 1. เปิด Pre-order ในราคาส่วนลด แต่ยังไม่บริการทันที

กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงการระบาดโควิด-19 เมื่อเหล่าบริษัทสายการบินและโรงแรมไปต่อไม่ไหว และอาจปิดกิจการลงในไม่ช้า จึงงัดกลยุทธ์หั่นราคาตั๋วเครื่องบินและค่าพักโรงแรมลง 30-50% ของราคาเต็ม ซึ่งเครื่องจะออกบินหรือเข้าพักโรงแรมได้ในอีก 1 เดือนหรืออีกหลายเดือนข้างหน้า

จากนั้นไม่นาน ผู้คนก็แห่กันมาจอง เพราะเป็นราคาที่ถูกมาก ขณะเดียวกัน บริษัทก็สามารถนำกระแสเงินสดที่เข้ามาไปหมุนจ่ายพนักงาน และจ่ายหนี้ระยะสั้นก่อน เพื่อช่วยต่ออายุบริษัท

นอกจากนี้ การ Pre-order หรือรับเงินสดจากลูกค้าก่อน แล้วสินค้าค่อยส่งให้ภายหลัง ยังถูกใช้ในเหล่า “อินฟลูเอนเซอร์” ขายสินค้าด้วย เพื่อไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสต๊อก ที่อาจสั่งเข้ามามากเกินไปจนขายไม่หมด เพราะเทรนด์สินค้ามักเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งในปัจจุบัน หลายบริษัทได้จับมือกับอินฟลูเอนเซอร์ โดยให้อินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ขาย พร้อมแสดงลิงก์ที่ลูกค้ากดสั่งไปยังเว็บไซต์เจ้าของสินค้าได้

  • 2. ชวนให้ลูกค้าเติมเงินในบัตร แลกของขวัญ

รู้หรือไม่ว่า ในปี 2565 “สตาร์บัคส์” (Starbucks) เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของสหรัฐ มีกระแสเงินสดมากถึง 1,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 57,000 ล้านบาทที่สามารถนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ โดยไม่เสียต้นทุนดอกเบี้ยสักบาท แล้วสตาร์บัคส์สะสมกระแสเงินสดสูงขนาดนี้ได้อย่างไร

คำตอบคือ “บัตรสตาร์บัคส์” นั่นเอง โดยบริษัทใช้วิธีเชิญชวนให้บรรดาลูกค้าและแฟนคลับสามารถเติมเงินในบัตรนี้ตั้งแต่ 100 บาทไปจนถึง 20,000 บาท/ใบ เพื่อใช้ในการซื้อกาแฟหรือสินค้าอื่น ๆ ในร้าน

จุดขายสำคัญคือ บัตรนี้ไม่มีหมดอายุ อีกทั้งยังได้รับของขวัญสุดพิเศษจากร้านด้วย อย่างสมุดโน้ตและกระเป๋าหิ้วด้วยลวดลายในฉบับสตาร์บัคส์ ดาวสะสมที่นำมาแลกเป็นเครื่องดื่มฟรี พร้อมส่วนลดต่าง ๆ

แน่นอนว่า แฟนคลับที่ดื่มสตาร์บัคส์เป็นประจำ ก็ชื่นชอบบัตรนี้ เพราะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการซื้อ เพียงเติมเงินในครั้งเดียว เช่น 10,000 บาทลงไป และให้ร้านตัดเงินในบัตร อีกทั้งจะเลือกไม่พกบัตรก็ได้ เพียงพกมือถือพร้อมแอปพลิเคชันสตาร์บัคส์ที่เชื่อมกับบัตร ก็ใช้แทนได้แล้ว

ขณะเดียวกัน บริษัทก็สามารถนำเงินฝากหลายหมื่นล้านบาทของลูกค้า ซึ่งยังไม่ได้ถูกใช้ทั้งหมด ไปหมุนต่อในกิจการ ลงทุนสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงใช้เร่งขยายสาขาร้าน เรียกได้ว่าเป็นแหล่งเงินที่ไม่ต้องกู้เสียดอกเบี้ยเลยทีเดียว

อีกจุดที่น่าสนใจ คือ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีลูกค้าเปลี่ยนใจ จนหันมาถอนเงินจากบัตรนี้ สตาร์บัคส์ได้ระบุรายละเอียดในเงื่อนไขบัตรว่า “มูลค่าและจำนวนเงินที่คงเหลืออยู่ในบัตร ไม่สามารถแลกเปลี่ยนหรือคืนเป็นเงินสดได้” เพื่อรักษาเสถียรภาพทางกระแสเงินสดนั่นเอง

อันที่จริง ไม่ได้มีเพียงบัตรสตาร์บัคส์ “บัตร Rabbit” ก็ใช้เทคนิคคล้ายกัน คือ ผู้โดยสาร BTS เป็นประจำก็ไม่ต้องการเสียเวลาหยอดเหรียญ หรือสแกน QR Code จ่าย เพียงใช้บัตรที่เติมเงินไว้แล้วรูดผ่านในครั้งเดียว ซึ่ง BTS ก็สามารถนำเงินเหล่านั้นไปบริหารต่อได้

  • 3. ขายลูกหนี้การค้าเพื่อเอาเงินสด

ในปัจจุบัน ปัญหา “ลูกหนี้การค้า” จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของสาเหตุที่ทำให้บริษัทล่ม เพราะหากลูกหนี้การค้าผิดนัดชำระ เจ้าหนี้ก็จะไม่มีกระแสเงินสดมากพอในการบริหารกิจการ หรือชำระหนี้ผู้อื่นต่อ กลายเป็นการผิดนัดชำระของ A ก็สามารถทำให้ B ผิดนัดตาม และ C ที่ไม่ได้เงินจาก B ก็ผิดนัดต่อด้วย จนล้มแบบโดมิโนที่อาจนำมาสู่วิกฤติทางการเงินได้

แต่ยุคสมัยนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว บริษัทที่ต้องการกระแสเงินสดด่วน ไม่ต้องการรอเงินตามเครดิตเทอม 3 เดือน 6 เดือนที่นานเกินไป และเหนื่อยใจกับการตามทวงลูกหนี้การค้า ก็สามารถขาย “บัญชีลูกหนี้การค้า” ให้บริษัทที่รับซื้อหนี้ประเภทนี้ได้ คือ บริษัทแฟคตอริ่ง (Factoring)

ในการรับซื้อหนี้ บริษัทแฟคตอริ่งจะทำการพิจารณาก่อนว่าควรรับซื้อหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะลูกหนี้และเครดิตของผู้ขายหนี้ และหากรับซื้อแล้วก็จะมีการต่อรองกันว่า จะจ่ายเต็มจำนวนหรือบางส่วน พร้อมคิดค่าธรรมเนียมในการบริหารบัญชีลูกหนี้

สำหรับ 3 เทคนิคเหล่านี้ ผู้ค้าก็สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจตนเองได้ เพื่อรักษากิจการให้อยู่รอดต่อ เพราะหลายบริษัทในปัจจุบัน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพจำนวนมากต่างต้องเผาเงิน ลดแลกแจกแถมต่าง ๆ เพื่อให้สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดจากรายใหญ่ หรือแม้แต่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก แม้ผลประกอบการบริษัทเหล่านี้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่กระแสเงินสดได้หล่อเลี้ยงพวกเขาให้อยู่ต่อได้

อ้างอิง: starbucksstarbucks(2)bloombergyahooกรุงเทพธุรกิจeconomic