ส่องมาตรการจีนกระตุ้น ‘10 ล้านล้านบาท’ มากพอให้ ’ตลาดหุ้น’ กลับตัวได้ไหม

ส่องมาตรการจีนกระตุ้น ‘10 ล้านล้านบาท’ มากพอให้ ’ตลาดหุ้น’ กลับตัวได้ไหม

เจาะมาตรการ “ยาเร่งด่วน” ที่รัฐบาลจีนใช้ฟื้นตลาดหุ้นให้กลับมา ไม่ว่าจะเป็นการอัดเงิน 10 ล้านล้านบาทเข้าช้อนหุ้นในประเทศ หรือแม้แต่การลดอัตราเงินสำรองของธนาคาร วิธีเหล่านี้เพียงพอให้ขาลงของตลาดหุ้นจีนกลับหัวขึ้นได้หรือไม่

Key Points

  • จีนลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บไว้กับตัวลง 0.50% จากระดับเดิม 10.5% เป็น 10% นั่นจะทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องในการลงทุนและปล่อยกู้มากขึ้น
  • แจ็ก หม่า และโจเซฟ ไช่ 2 ผู้ก่อตั้ง Alibaba ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท รวมกันเป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7,100 ล้านบาท
  • แม้จะมีมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นต่าง ๆ ออกมา แต่ในส่วน “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้” ธนาคารกลางจีนกลับเลือกคงไว้เหมือนเดิม


ลงแล้ว ลงอยู่ และลงต่อ นี่คือลักษณะของ “ตลาดหุ้นจีน” ที่มูลค่าปัจจุบันว่าถูกแล้ว ก็ยังถูกได้อีก ลองดูอย่างหุ้น Alibaba มีแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ายักษ์ใหญ่ระดับโลก และเป็นเจ้าของ Lazada ที่คนไทยขาดไม่ได้ แต่กลับมี P/E เพียง 10 เท่า สวนทางผลประกอบการและขนาดของบริษัท

ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่ทำผลงานแย่ที่สุดในโลก มูลค่าตลาดหายไปราว 6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 200 ล้านล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยกดดันตลาดมีตั้งแต่การจัดระเบียบภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล วิกฤติหนี้อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาเงินฝืด ประชากรเกิดใหม่น้อยลง รวมถึงเผชิญสงครามการค้ากับสหรัฐ จนรวมเป็น “มวลมหาคลื่น” ที่ถาโถมตลาดหุ้นจีน

ส่องมาตรการจีนกระตุ้น ‘10 ล้านล้านบาท’ มากพอให้ ’ตลาดหุ้น’ กลับตัวได้ไหม

- ผลตอบแทนตลาดหุ้นฮ่องกงในช่วง 1 ปี -

รัฐบาลพยายามกู้ชีวิตตลาดหุ้นจีนให้กลับมา ด้วยการประกาศเตรียมเงินสูงถึง 2 ล้านล้านหยวนหรือราว 10 ล้านล้านบาท เพื่อช้อนซื้อหุ้นจีน แต่คำถามที่ตามมา คือ มาตรการนี้เพียงพอแล้วหรือ และจะช่วยให้ตลาดฟื้นกลับมาได้หรือไม่

ส่องมาตรการจีนกระตุ้น ‘10 ล้านล้านบาท’ มากพอให้ ’ตลาดหุ้น’ กลับตัวได้ไหม

- ผลตอบแทนตลาดหุ้นจีน CSI 300 ในช่วง 1 ปี -

  • เจาะมาตรการปั๊มหัวใจตลาดหุ้นจีน

เมื่อตลาดหุ้นจีนอยู่ในภาวะวิกฤติ หากปล่อยไว้ต่อไปก็จะกระทบความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุน จนยากที่จะฟื้นคืน ด้วยเหตุนี้ หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจึงประกาศมาตรการพยุงตลาดอย่างเร่งด่วน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำ (Reserve Ratio Requirements) ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บไว้กับตัวลง 0.50% จากระดับเดิม 10.5% เป็น 10% นั่นจะทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องในการลงทุนและปล่อยกู้ได้มากขึ้น โดยการลดอัตราเงินสำรองนี้ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาด 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 5 ล้านล้านบาท

2. รัฐบาลจะใช้เงิน 2 ล้านล้านหยวน หรือราว 10 ล้านล้านบาทจากกองทุนในการเข้าซื้อหุ้นจีน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางราคา

3. รัฐบาลขอให้เหล่าธนาคารของรัฐช่วยเทขายสกุลดอลลาร์ และนำเงินเข้าพยุงสกุลหยวนที่อ่อนค่าลง

ไม่เพียงเท่านั้น แจ็ก หม่า และโจเซฟ ไช่ 2 ผู้ก่อตั้ง Alibaba ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท รวมกันเป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7,100 ล้านบาท เพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายพยุงตลาดของภาครัฐ และจุดความหวังใหม่ที่มีต่อตลาดหุ้นจีน

เทา วัง (Tao Wang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของธนาคาร UBS กล่าวว่า ท่าทีของทางการจีน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการ “หันหัวกลับทางนโยบาย” ในการสนับสนุนตลาดหุ้น

ถิง ลู่ (Ting Lu) นักเศรษฐศาสตร์จีนของ Nomura สถาบันการเงินชั้นนำจากญี่ปุ่น มองว่า ธนาคารกลางจีนสร้างเซอร์ไพรส์ให้ตลาด ด้วยการลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ลง 0.50% มากกว่าที่ Nomura เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.25% สะท้อนว่าธนาคารกลางจีนและผู้กำหนดนโยบายรัฐกังวลสถานการณ์ตลาดในขณะนี้มากขึ้น จนต้องลดอัตราเงินดังกล่าวลงเหนือกว่าคาด

  • นักลงทุนต้องการ “ยากระตุ้นตลาด” มากกว่านี้

แม้ไฟแห่งความหวังจะถูกจุดขึ้น แต่มีหนึ่งสิ่งที่นักลงทุนผิดหวัง คือ “การคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธนาคารกลางจีนตัดสินใจคง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลาง 3 เดือน - 1 ปี (Medium-Term Lending Facility Rate) และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แก่ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rates) ไว้เหมือนเดิม ทั้งที่ตลาดหุ้นขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ รวมถึงเผชิญปัญหาสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย

นักวิเคราะห์จากธนาคาร Goldman Sachs มองว่า แม้มาตรการของจีนต่อตลาดหุ้นจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอ ควรเป็นในลักษณะเชิงรุกมากกว่านี้ เพื่อพลิกฟื้นตลาดให้กลับมา โดยเฉพาะปัญหาฝังรากลึกอย่างอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตัวฉุดตลาด

หลายฝ่ายมองว่า การที่รัฐบาลคงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ ไม่ลดตามที่นักลงทุนคาดหวัง อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อไม่ให้ความแตกต่างระหว่าง “ดอกเบี้ยสหรัฐ” ที่อยู่ในระดับสูงกับ “ดอกเบี้ยจีน” ที่ต่ำกว่า เกิดความห่างมากเกินไป จนกระทบเสถียรภาพต่อเงินหยวน เพราะกระแสเงินมักไหลออกจากแหล่งดอกเบี้ยต่ำไปหาแหล่งดอกเบี้ยสูงกว่า

วินนี อู๋ (Winnie Wu) นักยุทธศาสตร์ฝ่ายการลงทุนหุ้นจีนของธนาคาร Bank of America ให้ความเห็นว่า การจะทำให้เศรษฐกิจจีนกลับตัว หนึ่งในนั้นต้องอาศัยแรงซื้อหุ้นจีนจากเหล่านักลงทุน ซึ่งเป็นความท้าทายและใช้เวลา

จาก “วิกฤติตลาดหุ้นจีน” มาตรการยากระตุ้นของภาครัฐนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า จะทำให้กราฟหุ้นจีนที่เป็นขาลง กลับหัวขึ้นได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยพอที่จะให้ตลาดหุ้นหยุดการไหล คล้ายการห้ามเลือด

ภาพในอนาคตมีทั้ง “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” รออยู่ เช่น ความขัดแย้งสหรัฐกับจีนจะผ่อนคลายลงหรือไม่ หรือตึงเครียดขึ้นกว่าเดิมด้วยการเพิ่มกำแพงภาษีจีนมากขึ้น ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่อาจกลับมาขาลง จนเป็นบวกต่อเศรษฐกิจจีน เพราะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมและลดกระแสเงินออกจากประเทศ จีนถูกจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญ แต่ก็เพิ่มแรงกระตุ้นให้จีนต้องเร่งพัฒนาเป็นของตัวเอง ฯลฯ ซึ่งตัวแปรหลายอย่างนี้ กลายเป็นสิ่งที่น่าค้นหาและท้าทายไปในตัว

อ้างอิง: cnbccnbc(2)bloombergcnn