สื่อนอกจับตาศึกเห็นต่าง ‘เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ‘ ทำนักลงทุนกังวล-ตลาดสับสน

สื่อนอกจับตาศึกเห็นต่าง ‘เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ‘ ทำนักลงทุนกังวล-ตลาดสับสน

เปิดมุมมองของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ต่อกรณีความขัดแย้งระหว่าง “เศรษฐา ทวีสิน” กับ “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้หรือไม่

Key Points

  • 9 เดือนแรกของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเติบโตเพียง 1.9%
  • ความเชื่อมั่นของตลาดทุนจะได้รับผลกระทบ ถ้ารัฐบาลแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
  • ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินของธปท. เตรียมจัดงาน “BOT Policy Briefing : เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” ในวันที่ 15 ม.ค. 67


เมื่อไม่นานมานี้ “Bloomberg” สำนักข่าวธุรกิจการเงินระดับโลกรายงานว่า ความขัดแย้งระหว่าง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีไทย กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังทำให้เหล่านักลงทุนรู้สึกไม่สบายใจ

ความขัดแย้งนี้เริ่มต้นจากเศรษฐาออกโรงวิจารณ์นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของผู้ว่า ธปท.ว่า แม้เงินเฟ้อไทยติดลบติดต่อกัน 3 เดือนแล้ว แต่เศรษฐพุฒิยังคงตรึงดอกเบี้ยนี้ในระดับสูงต่อ ซึ่งดอกเบี้ยที่สูงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และเหล่าผู้ค้ารายย่อยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กระแสสังคมออนไลน์ก็ต่างตั้งคำถามถึง “ธนาคารพาณิชย์” สถาบันการเงินที่ได้กำไรจำนวนมากจากดอกเบี้ยขาขึ้น บนต้นทุนดอกเบี้ยของเหล่าธุรกิจรายย่อยและคนทั่วไปที่สูงขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (10 ม.ค.) หลังจากที่เศรษฐาจับเข่าคุยกับเศรษฐพุฒิโดยตรง เขาก็ปรับท่าทีใหม่โดยแจงว่า “ไม่ได้ไปสั่งผู้ว่าฯให้ลดดอกเบี้ยใด ๆ ผมอธิบายเหตุผลให้ฟัง ท่านก็อธิบายเหตุผลในสภาพเศรษฐกิจโดยรวม”  

  • ควรลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย

ท่ามกลางความเห็นต่างระหว่าง 2 ท่านนี้ นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า ข้อเสนอของท่านนายกฯ ที่เรียกร้องให้มีการลดดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่ “สมเหตุสมผล” หลังจากที่เห็นเงินเฟ้อไทยติดลบติดต่อกัน 3 เดือนและเศรษฐกิจไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค

ขณะที่คริสตัล ตัน (Krystal Tan) นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Australia and New Zealand Banking Group ให้ความเห็นว่า “ความเชื่อมั่นของตลาดทุนจะได้รับผลกระทบ ถ้ารัฐบาลแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลาง เราหวังว่า ธนาคารกลางไทยจะมุ่งเป้าไปที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจและทิศทางอนาคตในการใช้ตัดสินใจนโยบายทางการเงิน และคาดว่า ทิศทางนโยบายดอกเบี้ยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในเร็ว ๆ นี้

สำหรับค่าเงินบาทของไทย จากที่เคยทำผลงานได้ดีก็มาพ่ายแพ้ในปีนี้ อีกทั้งกระแสต่าง ๆ ที่กดดันผู้ว่า ธปท. ให้ลดดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้นักลงทุนหันมาเทน้ำหนักนโยบายผ่อนคลายดอกเบี้ย และ ยูเบน พาราคิวเลส (Euben Paracuelles) นักเศรษฐศาสตร์อาเซียนจากบริษัทหลักทรัพย์โนมูระมองว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะเพิ่มความผันผวนของตลาดมากขึ้น จากแต่เดิมที่สถานการณ์โลกก็ไม่มั่นคงอยู่แล้ว

นับตั้งแต่นายกฯเศรษฐาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว เขาย้ำตลอดว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ใน “สภาวะวิกฤติ” จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพิ่ม โดย 9 เดือนแรกของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเติบโตเพียง 1.9% และตอนนี้เศรษฐาต้องการฟื้นให้เติบโตในระดับอย่างน้อย 5%

  • เตรียมจัดงานเปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ

ถึงแม้เศรษฐพุฒิยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับประเด็นการลดดอกเบี้ย แต่ล่าสุด ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินของ ธปท. เปิดเผยว่า เตรียมจัดงาน “BOT Policy Briefing : เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” ในวันที่ 15 ม.ค. 67

พาราคิวเลส มองว่า “เราไม่ได้คาดหวังการแถลงของธปท.ที่จะเกิดขึ้นมากนัก ว่าจะมีการลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติน่าจะใช้โอกาสนี้ย้ำจุดยืนความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย”

“ถึงแม้นายกฯจะสนับสนุนการลดดอกเบี้ยจนขัดแย้งกับผู้ว่าแบงก์ชาติ แต่เป็นไปได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกมองว่าประนีประนอมกับรัฐบาลและไม่เป็นอิสระ แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะชี้ว่าควรพิจารณาลดดอกเบี้ยก็ตาม” มิเกล แชงโก (Miguel Chanco) นักเศรษฐศาสตร์ของ Pantheon Macroeconomics บริษัทวิจัยทางเศรษฐกิจกล่าว

ด้าน ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Standard Chartered มองว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และวันที่ 7 ก.พ. จะเป็นวันประชุม กนง.นัดแรกของปี เพื่อพิจารณาและถกเถียงนโยบายดอกเบี้ยใหม่อีกครั้ง

อ้างอิง: bloomberg