เศรษฐกิจ 'อินเดีย' จ่อแซง 'จีน' ขึ้นแท่น 'เดอะแบกแห่งเอเชีย' ใน 3 ปีข้างหน้า

เศรษฐกิจ 'อินเดีย' จ่อแซง 'จีน' ขึ้นแท่น 'เดอะแบกแห่งเอเชีย' ใน 3 ปีข้างหน้า

เกิดอะไรขึ้น?! เมื่อ "จีน" อาจจะไม่ใช่ "เดอะแบก" เศรษฐกิจเอเชียอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้ บริษัทระดับโลกคาด "อินเดีย" เตรียมแซงขึ้นแท่นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นจีนส่อเค้าซึมยาวไปถึงปีหน้า

เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลกของสหรัฐ คาดการณ์ว่า ในขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงนั้น แรงขับเคลื่อนหลักที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะย้ายจากจีนไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีอัตราการขยายตัวแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ S&P คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดียในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2567 จะขยายตัวแตะ 6.4% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 6% โดยได้แรงหนุนจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อจากราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูงและกิจกรรมด้านการส่งออกที่ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน S&P ระบุว่า ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นการขยายตัวของ GDP ในเชิงบวกทั้งในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่ง

S&P ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของตัวเลข GDP อินเดียในปีงบประมาณ 2568 ลงสู่ระดับ 6.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6.9% แต่คาดว่า GDP จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 7% ในปีงบประมาณ 2569

ส่วนกรณีประเทศจีนนั้น S&P คาดการณ์ว่า GDP จีนจะขยายตัว 5.4% ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิม และคาดว่า GDP ในปี 2567 จะขยายตัว 4.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.4%

  • วิกฤติอสังหาฯ ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจจีน

อูนิส ตัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเครดิตประจำเอเชียแปซิฟิกของ S&P กล่าวว่า การที่จีนอนุมัติการออกพันธบัตรมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเมื่อไม่นานมานี้ และอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นได้โควตาการออกพันธบัตรในปี 2567 ได้ส่วนหนึ่งนั้น เป็นปัจจัยประกอบการคาดการณ์ GDP ของเอสแอนด์พี

"เราคาดว่า วิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน โดยอุปสงค์ด้านอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดหมุนเวียนและยอดขายที่ดินของบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์"

แม้ S&P มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก แต่วิกฤติพลังงานที่เป็นผลมาจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รวมทั้งความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะทรุดตัวลงอย่างรุนแรงหรือฮาร์ดแลนดิ้ง (hard landing) ได้ทำให้ S&P ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ในปี 2567 ลงสู่ระดับ 4.2% จากระดับ 4.4%

  • ตลาดหุ้นจีนส่อซึมยาวถึงปี 67

นอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในขาลงแล้ว นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกนและเอชเอสบีซีคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นจีนอาจจะเผชิญกับแรงกดดันเป็นเวลานาน เนื่องจากวิกฤตการณ์ที่ยืดเยื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นแทบไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้

แคโรไลน์ ยู เมาเรอร์ หัวหน้าฝ่ายตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงของเอชเอสบีซี แอสเซต แมเนจเมนต์ และเวนดี หลิว หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดหุ้นจีนของเจพีมอร์แกน ซิเคียวริตีส์เอเชีย กล่าวว่า ตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวผันผวนต่อไปและจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ จนถึงปี 2567 เนื่องจากตลาดขาดแรงกระตุ้น และนักลงทุนระยะยาวไม่เร่งรีบที่จะกลับเข้าซื้อหุ้น เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความตั้งใจของรัฐบาลจีนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

"ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญภาวะขาลง ขณะที่มูลค่าของตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง และหากบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถทำผลประกอบการที่แข็งแกร่งในวัฏจักรนี้ ตลาดหุ้นจีนก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก" เมาเรอร์กล่าว

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง และดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ของจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นนั้น ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีนี้ ส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นจีนหายไปเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์

"นี่เป็นภาวะตลาดหมีที่นักลงทุนไม่ต้องการเข้ามาซื้อขาย เราคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคธนาคาร และความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงของภาคเอกชน" เวนดี หลิวกล่าว

อ้างอิง: CNBC, SCMP