เงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน

เงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน

ถ้าจะหวังผลจากการใส่เงิน 560,000 ล้านบาท ย่อมช่วยเพิ่มจีดีพีอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังได้หรือไม่ยังเป็นข้อสงสัย อาจทำได้ไม่มากเท่าที่ประเมินไว้ในช่วงหาเสียง

รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่ใช้งบประมาณถึง 560,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถือเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภค โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท ให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งจะใช้จ่ายได้ในระยะเวลา 6 เดือน

นโยบายเงินดิจิทัลในเชิงหลักการเป็นนโยบายมีข้อดีในแง่การอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจโดยตรง แต่เริ่มมีการแสดงความเห็นในข้อกังวลในประเด็นของการถูกที่ถูกเวลา โดยวงเงิน 560,000 ล้านบาท เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินมาใช้ในช่วงที่ประเทศไทยมีวิกฤติเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปี 2563 และจีดีพีขยายตัวเพียง 1.6%

สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันของไทยในด้านการบริโภคของไทยขยายตัวค่อนข้างดี โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าไตรมาส 2 ปี 2566 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนขยายตัวสูง 7.8% รวมครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัว 6.8% จึงทำให้มีความกังวลว่าการบริโภคที่ยังอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว จะสามารถผลักดันให้สูงขึ้นได้อีกมากน้อยเพียงใดเมื่อรัฐบาลพยายามที่จะเร่งการบริโภคมาเป็นตัวจุดเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

ขณะที่การผลิตพบว่าสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง ขยายตัว 0.5% ชะลอลงจากไตรมาสแรกปีนี้ที่ขยายตัว 6.2% และที่น่ากังวลอยู่ที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 3.3% ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรกปีนี้ และเป็นการลดลงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของไทยที่ถดถอยต่อเนื่อง 3 ไตรมาส และทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือน แรกของปี 2566 ติดลบ 5.5% ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 3-4 ปีนี้ จะดีขึ้นจากฐานปีที่แล้วที่ต่ำ

นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเริ่มมีตั้งแต่ปลายปี 2565 และเริ่มชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีการยุบสภา ซึ่งอาจทำให้หลายนโยบายไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยถ้าจะหวังผลจากการใส่เงิน 560,000 ล้านบาท ย่อมช่วยเพิ่มจีดีพีอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังได้หรือไม่ยังเป็นข้อสงสัย เพราะอัตราการบริโภคอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ความคาดหวังในการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลทำได้ไม่มากเท่าที่ประเมินไว้ในช่วงหาเสียง