จีนปราบ 'ธุรกิจกวดวิชา' ไร้ผล หนุน 'ติวเตอร์ใต้ดิน' บูม! แถมราคาแพงขึ้น

จีนปราบ 'ธุรกิจกวดวิชา' ไร้ผล หนุน 'ติวเตอร์ใต้ดิน' บูม! แถมราคาแพงขึ้น

“สถาบันกวดวิชาใต้ดิน” ในจีนกำลังบูมต่อเนื่องขณะนี้ หลังรัฐบาลจัดระเบียบธุรกิจกวดวิชาจนกลายเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรเมื่อ 2 ปีก่อน มิหนำซ้ำกลับยิ่งทำให้ค่าเล่าเรียนชาวจีนพุ่งสูงขึ้น จากการหันไปพึ่งบริษัทกวดวิชานอกระบบแทน

Key Points

  • ก่อนมีการจัดระเบียบ อุตสาหกรรมกวดวิชาในจีนเคยมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท
  • ภาระค่าเรียนพิเศษที่สูง ท่ามกลางการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยที่รุนแรงในจีน เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวจีนไม่ต้องการมีลูกเพิ่ม
  • หลายบริษัทกวดวิชาใต้ดินพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย เช่น เปลี่ยนชื่อ “วิชาคณิตศาสตร์” เป็น “วิชาแห่งความคิด” และเปลี่ยนชื่อ “วิชาภาษาจีน” เป็น “วิชาภาษาศาสตร์ทางวรรณคดี” 


ธุรกิจกวดวิชา” เคยเฟื่องฟูอย่างมากในจีนจากค่านิยมต้องการให้ลูกร่ำเรียนหนักที่มีมาช้านาน เพื่อให้สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีและมีอาชีพที่มั่นคง ปัจจุบัน บรรดาสถาบันกวดวิชาจีนกลับมีจำนวนลดลงอย่างมากจนน่าใจหาย

สิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนเดินหน้าจัดระเบียบธุรกิจกวดวิชาในประเทศตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 ด้วยการออกกฎบังคับให้บรรดาบริษัทกวดวิชา กลายเป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ส่งผลให้ความมั่งคั่งในอุตสาหกรรมนี้มีเงินหดหายไปหลายพันล้านดอลลาร์ บริษัทกวดวิชาหลายแห่งล้มละลาย และพนักงานบริษัทหลายหมื่นคนตกงาน

ทางการจีนให้เหตุผลของการจัดระเบียบธุรกิจกวดวิชาว่า เพื่อลดต้นทุนค่าเล่าเรียนลง ไม่ว่าจากการเรียนหนักมากเกินไปของนักเรียนจีน หลังเลิกเรียนแล้วก็ต่อด้วยการเรียนพิเศษ รวมถึงเพื่อจัดระเบียบการขยายตัวของอุตสาหกรรมกวดวิชาที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท

จีนปราบ \'ธุรกิจกวดวิชา\' ไร้ผล หนุน \'ติวเตอร์ใต้ดิน\' บูม! แถมราคาแพงขึ้น - การเรียนหนังสืออย่างหนักของชาวจีน (เครดิต: Shutterstock) -

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ผลของการจัดระเบียบนี้ได้กลับมากระทบชนชั้นกลาง เมื่อครูสอนพิเศษจากที่เคย “สอนเป็นกลุ่ม” ต้องเปลี่ยนวิธีการเป็น “การสอนส่วนตัว” แทน เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับจากภาครัฐ อีกทั้งยังคิดค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นด้วย เพื่อชดเชยจำนวนนักเรียนที่หายไป

  • กวดวิชาใต้ดินบูม ค่าติวพุ่งพรวด

อันที่จริงแล้ว มีโรงเรียนกวดวิชาเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากรัฐ ซึ่งมีราคาต่ำกว่า เพียงแต่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ปกครองนักเรียน เนื่องจากการสอนไม่ได้เข้มข้นเท่าครูพิเศษส่วนตัว ยิ่งการแข่งขันสอบที่รุนแรง ไม่ว่าเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเกาเข่า ที่ใช้คะแนนผลสอบเพียงครั้งเดียวใน 1 ปี และนักเรียนที่สมัครสอบมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี การเรียนพิเศษจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ และตอนนี้ธุรกิจติวเตอร์ใต้ดินกำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศจีน

ซาราห์ หวัง (Sarah Wang) ผู้เป็นแม่วัย 40 ปี ซึ่งทำงานบริษัทค้าขายออนไลน์ในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “ภาระค่าใช้จ่ายของพวกเราไม่ได้ลดลงเลย” พร้อมกับเปรียบการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ นั้น คล้ายกับพลทหารหลายพันคนพร้อมเหล่าฝูงม้าที่พยายามยื้อแย่งกันข้ามสะพานเส้นเดียว

หวังเล่าต่อว่า ตอนนี้เธอจ่ายเงินครูสอนพิเศษส่วนตัวสำหรับลูกของเธอในระดับชั้นประถม สูงกว่าเดิม 50% และเมื่อลูกสาวเธอเริ่มต้นเข้าชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และลงเรียนวิชาที่ยากขึ้นอย่างฟิสิกส์ คาดว่า ค่ากวดวิชาจากปัจจุบันที่ราว 300-400 หยวน หรือราว 1,400-1,900 บาทต่อคอร์ส ก็อาจเพิ่มขึ้นอีก

จีนปราบ \'ธุรกิจกวดวิชา\' ไร้ผล หนุน \'ติวเตอร์ใต้ดิน\' บูม! แถมราคาแพงขึ้น - ครูสอนพิเศษส่วนตัว (เครดิต: Shutterstock) -

เคธี จู (Cathy Zhu) ซึ่งมีอาชีพบริการด้านการเงินในนครเซี่ยงไฮ้ วัย 40 ปีเศษ ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ค่ากวดวิชาคณิตศาสตร์สำหรับลูกของเธอ สูงขึ้นเกือบสองเท่าไปที่ราคา 300 หยวนหรือราว 1,400 บาทต่อคอร์ส โดยตราบใดที่การแข่งขันเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังคงสูงเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะลดค่ากวดวิชาลงได้

ยิ่งไปกว่านั้น รายจ่ายติวเตอร์ส่วนตัวที่มากกว่า 100,000 หยวนหรือราว 480,000 บาทต่อปีในเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น นครเซี่ยงไฮ้ ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวจีนไม่ต้องการมีลูก ซึ่งมาควบคู่กับราคาบ้านที่สูงลิ่วในปัจจุบัน และโดยเฉพาะครอบครัวยากไร้ที่ไม่สามารถหาครูสอนพิเศษส่วนตัว ลูกของพวกเขาจึงอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบในสังคม

นอกจากนี้ การแข่งขันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่สูง เพื่อมุ่งไปสู่สายสามัญ และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของมหาวิทยาลัยจีนในช่วง 20 ปีมานี้ ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาที่จบการศึกษาออกมามีมากกว่าความต้องการ และกลายเป็นการขาดแคลนแรงงานสายวิชาชีพแทน

ดังนั้น แนวโน้มหนุ่มสาวจีนที่ตกงานจึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งทางภาครัฐจีนก็พยายามกระตุ้นให้ชาวจีนหันมาเรียนด้านสายอาชีพมากขึ้น

  • ท่าทีรัฐบาลเป็นบวกต่อเอกชนมากขึ้น

ก่อนหน้านั้น ทางการจีนมีนโยบายที่แข็งกร้าวและเข้มงวดกับกลุ่มทุนใหญ่จีน ตั้งแต่ Ant Group บริษัทที่ให้บริการด้านการเงินครบวงจร, Tencent บริษัทด้านเทคโนโลยี จนมาถึงบรรดาธุรกิจกวดวิชา แต่ในช่วงล่าสุด โทนเสียงของรัฐบาลจีนมีแนวโน้มอ่อนลง โดยเมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลแถลงว่า ทางรัฐจะปฏิบัติต่อบริษัทเอกชนเช่นเดียวกับบริษัทรัฐวิสาหกิจ 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า เพื่อช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ท่ามกลางประเทศที่กำลังเผชิญเศรษฐกิจชะลอตัว

  • วิธีหลบเลี่ยงของธุรกิจกวดวิชาใต้ดิน

เมื่อกวดวิชาใต้ดินกำลังเฟื่องฟูในจีน แต่ผิดกฎหมาย บริษัทกวดวิชาจีนหลายแห่งจึงพยายามหาวิธีหลบหลีกกฎระเบียบของทางการ เช่น เปลี่ยนชื่อ “วิชาคณิตศาสตร์” เป็น “วิชาแห่งความคิด” และเปลี่ยนชื่อ “วิชาภาษาจีน” เป็น “วิชาภาษาศาสตร์ทางวรรณคดี” หรือแม้แต่การปรับฉากหน้าของคอร์สสอนเป็นวิชาที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร อย่างการร้องเพลงหรือระบายสีแทน เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ โดยค่าเล่าเรียนกวดวิชาเหล่านี้ประมาณ 300-500 หยวน หรือราว 1,400-2,400 บาทต่อคอร์ส

จีนปราบ \'ธุรกิจกวดวิชา\' ไร้ผล หนุน \'ติวเตอร์ใต้ดิน\' บูม! แถมราคาแพงขึ้น - กวดวิชาภาษาในจีน (เครดิต: Shutterstock) -

สำนักข่าว People’s Daily รายงานว่า ในนครเหอเฝย เมืองหลวงของมณฑลอานฮุย เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐได้บุกตรวจสถานศึกษา 77 แห่งในวันที่ 28 มิ.ย. ซึ่งหลายสถาบันฝ่าฝืนกฎ โดยการเปิดสอนพิเศษในโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ ภายใต้ชื่อบังหน้าว่า “ที่ปรึกษาด้านการศึกษา”

ที่มณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นเขตของคนร่ำรวยและอยู่ติดนครเซี่ยงไฮ้ มีการปราบปรามการสอนพิเศษแบบผิดกฎหมาย ที่ใช้ชื่อธุรกิจบังหน้าว่าเป็นบริษัทแม่บ้านหรือผู้ให้คำปรึกษา การปราบปรามตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้จำนวนบริษัทติวเตอร์ในมณฑลเจียงซู จากราว 9,000 แห่งลดลงเหลือเพียง 205 แห่ง

ในมณฑลฝูเจี้ยน ทางการจีนก็เข้าไปตรวจสอบกิจกรรมติวพิเศษและการออกแคมป์ภาคฤดูร้อนด้วยเช่นกัน พร้อมเชื้อเชิญให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส หากพบเห็นธุรกิจกวดวิชาที่ผิดกฎหมายเหล่านี้

อ้างอิง: bloomberg