เศรษฐกิจไทยบนทางเลื่อน ในวันที่ยังไม่มีรัฐบาล

เศรษฐกิจไทยบนทางเลื่อน ในวันที่ยังไม่มีรัฐบาล

เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ หลังศาล รธน. เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้องประเด็นโหวตชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งนายกฯ ร่วมถึงการเลื่อนโหวตรนายกฯ ของรัฐสภา ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถไปต่อได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องจัดการงบประมาณและการลงทุน

การเมืองไทยเมื่อวันพฤหัสบดี (3 ส.ค.) พูดได้คำเดียวว่า เป็นการเมืองแห่งการเลื่อน เริ่มต้นจากศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้องและให้สำนักงานศาล รธน. ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกรณี มติสภา ข้อบังคับการประชุม 41 ขัดหรือแย้งต่อ รธน. ปม เสนอชื่อ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โหวตนายกฯ ซ้ำ ได้หรือไม่ ให้ผู้ร้องระบุสถานะบุคคลคณะผู้ร้องเรียนที่ 3 ยื่นต่อศาล รธน.ใน 15 ส.ค. นัดพิจารณาคําร้อง 16 ส.ค. เวลา 09.30 น.

จากเลื่อนที่ 1 ส่งผลให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา เผยว่าวาระการโหวตนายกฯ รอบ 3 ตามที่นัดประชุมรัฐสภาวันที่ 4 ส.ค.ต้องเลื่อนประชุมออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้พิจารณามติของรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค. ว่าด้วยการเสนอแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาอีกครั้ง วันที่ 16 ส.ค. นั่นเท่ากับว่า ต้องรอไปอีกสองสัปดาห์ถึงจะได้เห็นหน้าตารัฐบาล จากเดิมคาดกันว่าวันนี้ (4 ส.ค.) จะมีการโหวตนายกฯ จากแคนดิเดตพรรคเพื่อไทย “นายเศรษฐา ทวีสิน”

เทียบกับไทม์ไลน์เดิมที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเคยให้ไว้คร่าวๆ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. คาดว่าวันที่ 3 ส.ค. 2566 เลือกนายกรัฐมนตรี , วันที่ 10 ส.ค. 2566 แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวันที่ 11 ส.ค. 2566 ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ เท่ากับว่าล่าช้าไปจากเดิมหลายวัน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินถือว่าเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย ทั้งเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง และหากยิ่งทอดออกไปไกลมากขึ้นจะยิ่งไม่ดีต่อการลงทุนและกิจกรรมเศรษฐกิจ เพราะทุกภาคส่วนหวังว่ากระบวนการนี้จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ผลกระทบโดยตรงคือการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เดิมคาดว่าจะล่าช้าไปหนึ่งไตรมาสก็กลายเป็นสองไตรมาส โครงการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐจำต้องชะลอออกไป ที่สำคัญกว่านั้นคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่ไทยต้องแข่งกับเพื่อนบ้านอาเซียน รัฐบาลจะหน้าตาเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีถึงตอนนี้ยังไม่ชัด นโยบายจะออกมาแนวทางไหนยังไม่แน่ เมืองไทยอยู่บนความไม่แน่นอน

ยิ่งมาเจอข้อมูลตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาของไทย หดตัว 6.4% ซึ่งนับเป็นการย่อตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 จนส่งผลในเดือน ม.ค.- มิ.ย.ไทยขาดดุลทางการค้าไปแล้ว 6,307.6 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยการกีดกันทางการค้า ความปั่นป่วนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ล้วนต้องการรัฐบาลมาตัดสินใจ แต่เห็นสภาพความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นอย่าว่าแต่นักลงทุนเลย แค่ประชาชนคนธรรมดาก็ไม่มีความหวัง ไม่สามารถฟันธงได้เลยว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปได้อย่างไร