กกร. ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังเสี่ยงสูง ขาดแรงส่ง หวังเร่งตั้งรัฐบาล

กกร. ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังเสี่ยงสูง ขาดแรงส่ง หวังเร่งตั้งรัฐบาล

กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังท้าทายสูง จากเศรษฐกิจโลกโตต่ำกดดันภาคส่งออก ขณะที่ภายในขาดแรงส่ง คาดนักท่องเที่ยวฟื้นตามเป้าแต่ยอดใช้จ่ายต่อหัวต่ำ เอกชนขาดความเชื่อมั่นการเมืองยิดเยื้อ หวังตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนส.ค.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังของปีมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และยุโรป และความกังวลเงินเฟ้อ ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินการเติบโตเศรษฐกิจโลกเพียง 3% สำหรับปีนี้ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต 

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มแผ่วลงสะท้อนจากจีดีพีไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 6.3% ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 7.3% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เป็นผลมากนัก ดังนั้น ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีความท้าทายสูง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวเป็นไปตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวของบางจังหวัดท่องเที่ยวยังช้า 

ขณะที่แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้น จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยต่อคนยังอยู่ต่ำกว่าปี 2562 ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และห่วงว่าเศรษฐกิจจะถดถอยมากกว่าประเทศอื่น 

 

โดยปัจจัยหลักที่กดดันการใช้จ่ายยังมาจากหนี้ครัวเรือน ซึ่งจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดระบุว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 5.59 แสนบาทสูงสุดในรอบ 15 ปี และมีจำนวนถึง 54% ที่มีหนี้สูงกว่ารายได้ โดยพบว่า เป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 19.8% ของหนี้ทั้งหมด 

ที่ประชุมกกร.มองว่า ควรมีการผลักดันอย่างจริงจังให้นำข้อมูลหนี้สหกรณ์และการประมาณการหนี้นอกระบบที่เชื่อถือได้รวบรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่มาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีมาตรการที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องรายได้ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาโดยองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ

"รวมทั้ง ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง การทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐ และการชะลอตัวของการส่งออก ที่ประชุมกกร.จึงมีความเป็นห่วง และต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว"

ทั้งนี้ กกร. ยังคงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้โตอยู่ในกรอบ 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออก ติดลบ 2.0-0.0% ส่วนเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.2-2.7%

เอลนีโญ เสียหาย 5.3 หมื่นล้าน

สำหรับปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง ม.ค.-ก.ค. 66 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% 

เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนก.ค. 2566 พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนในอยู่ในระดับวิกฤติใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง 

"กกร. ประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 ถึงครึ่งแรกของปี 67"

ทั้งนี้ กกร. ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 โดยภาครัฐรับจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า โดยเฉพาะอ่างฯ บางพระ อ่างฯ หนองปลาไหล และอ่างฯ ประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเอลนีโญ ที่มีวัฏจักรที่ยาวนานและผันผวนมากขึ้น 

โดย กกร. ได้นำเสนอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความมั่นคงระยะยาวที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และขอให้ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่นๆ 

“การดำเนินการในพื้นที่ EEC ในรูปแบบ EEC sandbox ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะพื้นที่ จึงควรผลักดันทำให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆของประเทศได้ต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงของปัญหาหนี้บนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังพึ่งพาภาคเกษตร”

รัฐดูแลต้นทุน ช่วยลดค่าครองชีพ

ที่ประชุมกกร. เสนอแนวการแก้ปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนในการดำรงชีพในภาคประชาชน ที่สะท้อนมาจากราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก จากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิภาวะภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน อาจทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ความเสี่ยงโรคระบาดในปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงราคาพลังงานที่ยังผันผวน 

โดยให้ภาครัฐดูแลต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ปุ๋ย และอาหารสัตว์ รวมถึง ต้นทุนด้านอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการ