บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

“ไทย” เจ้าแห่งทุเรียนในตลาดโลกมายาวนาน ขณะนี้บัลลังก์กำลังถูกสั่นคลอนเมื่อเวียดนามมีส่วนแบ่งทุเรียนโลกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมาเลเซียก็มีพันธุ์พรีเมียมอย่างมูซานคิงด้วย รวมทั้งจีนยังทดลองปลูกทุเรียนในประเทศ ความท้าทายเหล่านี้น่ากังวลเพียงใด และผู้ส่งออกเบอร์ 1 อย่างไทยควรรับมืออย่างไรบ้าง

Key Points

  • ปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนอันดับ 1 ของโลก สูงถึง 93.3% เวียดนามอยู่ที่ 6.0% และมาเลเซียอยู่ที่ 0.7%
  • ทุเรียนมาเลเซียจะเก็บในขณะที่ลูกสุกแล้ว ร่วงหล่นสู่พื้น ในขณะที่ทุเรียนไทยมักจะตัดจากต้น จึงทำให้ทุเรียนมาเลเซียมีความหวาน และเนื้อจะเละกว่าทุเรียนไทย 
  • จีนกำลังทดลองปลูกทุเรียน ที่มณฑลไหหลำกว่า 12,500 ไร่ และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายทุเรียนออกสู่ตลาดจีนได้ภายในปี 2567 ประมาณ 45,000 – 75,000 ตัน/ปี


ไม่นานมานี้ ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ประจำปี 2565 เปิดเผยว่า แม้ไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกในทุเรียนสดเป็นอันดับ 1 สูงถึง 93.3% ของมูลค่านำเข้ารวมทั่วโลก แต่เป็นตัวเลขที่ “ลดลง 3.9%” จากปีก่อนหน้า ในขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ที่ 6.0% และมาเลเซียอันดับ 3 ที่ 0.7% ตามลำดับ 

นอกจากนี้ ใน 2 เดือนแรกของปี 2566 นี้ การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีน ก็เติบโตขึ้น 291% จากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน

“คำถามที่น่าสนใจ” คือ เกิดอะไรขึ้นกับทุเรียนไทย ทำไมส่วนแบ่งทุเรียนไทยถึงลดลง แต่ทุเรียนเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกลับเพิ่มขึ้น และทุเรียนของไทยแตกต่างจากประเทศคู่แข่งอย่างไรบ้าง

 

  • ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้

“ทุเรียน” นั้นได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” แม้ภายนอกจะเป็นเปลือกมีหนาม แต่ภายในกลับมีเนื้อสีเหลืองนวล เนื้อหวานแน่น และมีกลิ่นที่น่าจดจำ โดยกลิ่นทุเรียนนั้นมีทั้งที่มองว่าส่งกลิ่นหอมอันน่าดึงดูด และบางคนมองว่ามีกลิ่นที่ค่อนข้างฉุนเกินไป

นอกจากนี้ ทุเรียนนั้นเป็นพืชที่ปลูกยาก มักมีแมลงศัตรูพืชขึ้นเกาะได้ง่าย จึงต้องใช้ความเอาใจใส่ดูแลมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ อีกทั้งทุเรียนยังเป็น “พืชที่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม” ด้วย แม้จะเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่หากปลูกในพื้นที่แตกต่างกัน คุณภาพและรสชาติที่ออกมาก็จะไม่เหมือนกัน

ด้วยภูมิประเทศของไทยที่เอื้อต่อการเพาะปลูกทุเรียนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ประกอบกับไทยสามารถควบคุมคุณภาพทุเรียนที่ส่งออกได้ จึงทำให้ทุเรียนไทยขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดโลกเป็นอันดับ 1 สูงถึง 93.3% โดยผลผลิตทุเรียนราว 90% ของไทยถูกส่งออกไปยังจีน จึงทำให้จีน กลายเป็น “ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย”

 

  • จุดแข็งทุเรียนไทย

สำหรับทุเรียนไทยนั้นนิยมปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก จังหวัดที่ปลูกมากที่สุด คือ จันทบุรี

“จุดแข็งของทุเรียนไทย” คือ มีคุณภาพเนื้อที่อร่อย เป็นที่ถูกใจสำหรับชาวจีนมายาวนาน จนกลายเป็นแบรนด์ประเทศที่แข็งแกร่ง หากเอ่ยถึงทุเรียนเมื่อใด คนทั่วโลกก็จะนึกถึง “ประเทศไทย”

วรัญญภัคก์ ศรีมหัทธนเวคิน ประธานกรรมการบริษัทควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด ตัวแทนการส่งออกทุเรียนไทย กล่าวว่า คนจีนชื่นชอบทุเรียนไทยมาก และนำเข้าไม่ต่ำกว่า 600 ตู้คอนเทนเนอร์/วัน โดยพันธุ์ทุเรียนที่นิยม คือ หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี และกระดุม 

 

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

- ทุเรียนไทยที่วางขายในจีน -

 

ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานทุเรียนไทยยังมีกระบวนการผลิตที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขอนามัย GAP (Good Agricultural Practice) ของจีนด้วย ที่กำหนดให้ทุเรียนไม่มีศัตรูพืชตกค้างภายในผล

ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงเป็น “ประเทศแรกและเป็นประเทศเดียว” ที่จีนอนุญาตให้ส่งทุเรียนสดไปขายในประเทศได้ ก่อนที่ไทยจะเผชิญความท้าทายเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว จีนอนุมัติให้เวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนได้ กลายเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากไทย และฟิลิปปินส์ก็เป็นประเทศที่ 3 ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีนี้ ที่จีนอนุมัติให้ส่งออกทุเรียนสดได้เช่นกัน

แม้ว่าทุเรียนไทยจะขึ้นชื่อด้านความอร่อยสำหรับชาวจีน แต่ก็มีผู้ประกอบการทุเรียนบางส่วนของไทย เลือกตัด “ทุเรียนอ่อน” ส่งออกไปจีน เพื่อขายให้ได้ราคาที่สูงขึ้น เพราะถ้ารอตัดตามอายุเก็บเกี่ยว ซึ่งตรงกับช่วงที่ผลผลิตทุเรียนหลายเจ้าออกมามาก ก็จะทำให้ราคาขายลดลงได้

สำหรับทุเรียนที่ยังสุกไม่ได้ที่ และถูกตัดออกก่อนเวลาเหมาะสม จะมีรสชาติไม่อร่อยเท่าที่ควร และอาจกระทบชื่อเสียงของประเทศไทยต่อสายตาชาวจีน ในฐานะผู้ส่งออกหลัก

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกำหนดมาตรการว่า ทุเรียนที่จะส่งออกไปจีน จำเป็นต้องได้รับการตรวจ “เปอร์เซ็นต์แป้ง” ในทุเรียนก่อน ตามมาตรฐานดังนี้

- พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32%

- พันธุ์ชะนีและพวงมณี ไม่น้อยกว่า 30%

- พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27%

หากต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดไว้ จะถือว่าเป็น “ทุเรียนอ่อน” และผู้ขายทุเรียนอ่อนจะมีความผิดตามกฎหมายด้วย เพื่อควบคุมคุณภาพของทุเรียนไทย

 

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

- การตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งในทุเรียน (เครดิต: สำนักงานเกษตร จังหวัดจันทบุรี) -

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ย้ำว่า พ่อค้าใดตัดทุเรียนอ่อนขาย จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ทุเรียนไทยยังเผชิญความท้าทายอีกประการ คือ ราคาทุเรียนเวียดนามถูกกว่าไทย ดังจะเห็นได้จาก “ข้อมูลราคาทุเรียนเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2566” ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

- ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จากไทย 1 กล่อง (6 ลูก หรือราว 16-18 กก.) ราคา 700-880 หยวนหรือราว 3,500-4,400 บาท

- ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จากเวียดนาม 1 กล่อง (6 ลูก หรือราว 16-18 กก.) ราคา 700 หยวนหรือราว 3,500 บาท

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีทุเรียนพันธุ์ก้านยาว 1 กล่อง (3 ลูก หรือราว 7.5 กก.) ราคา 300-320 หยวนหรือราว 1,500-1,600 บาท  ถูกกว่าทุเรียนหมอนทองไทย

 

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

- ข้อมูลราคาทุเรียนของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ -

 

นายโกศล ปุญญปัญญา เจ้าของล้งรายใหญ่จังหวัดตราดที่ส่งออกทุเรียนไปยังจีน มองว่า ราคาทุเรียนของไทยแพงกว่าราคาทุเรียนของเวียดนามกว่าเท่าตัว กังวลว่าจีนอาจหันไปซื้อทุเรียนจากเวียดนามมากขึ้นแทนไทย ซึ่งหากทำให้ราคาทุเรียนไทยต่ำลงได้ ก็จะทำให้ไทยแข่งขันกับเวียดนามได้มากขึ้น เพราะทุเรียนไทยคุณภาพดีกว่าทุเรียนเวียดนามมาก

 

  • เวียดนามเร่งเครื่องแข่ง

ทุเรียนเวียดนามกำลังมาแรงในขณะนี้ โดยขึ้นมามีส่วนแบ่งที่ 6% ของโลกได้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เหตุผลเพราะเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ปีที่แล้ว ทางการจีนอนุมัติให้เวียดนามส่งออกทุเรียนสดมายังจีนได้

จากข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม พบว่า เพียง 2 เดือนแรกในปีนี้ การส่งออกทุเรียนไปยังจีน ก็เติบโตเพิ่มขึ้น 291% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 56.9 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,936 ล้านบาท

บุษบา นาคพิพัฒน์ เจ้าของสวนทุเรียนน้ำกร่อย จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า “ไทยเคยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตจากจีนให้สามารถส่งทุเรียนสดเข้าไปได้ แต่ตอนนี้ เวียดนามทำเช่นเดียวกับไทยได้แล้ว และทำให้ดิฉันรู้สึกกังวล”

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประกอบทุเรียนเวียดนามที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานจีน ยังคงมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับไทย

ในเวียดนาม มีเพาะปลูกทั้งทุเรียนหมอนทอง ชะนี และก้านยาว ซึ่งนิยมปลูกในภาคตะวันออกเฉียงใต้และที่ราบสูงตะวันตกของเวียดนาม รวมถึงยังมีสายพันธุ์ท้องถิ่นอย่างสายพันธุ์ Ri 6 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายในตลาดปัจจุบัน มีผลรียาว หนามบาง เป็นพันธุ์คุณภาพดี โดยเนื้อข้างในมีสีเหลืองถึงเหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน 

 

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

- ทุเรียนเวียดนามพันธุ์ Ri6 (เครดิต: VNA, Highland Fruit) -

 

นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ Do Na สายพันธุ์ Chuong Bo สายพันธุ์ Kho qua และสายพันธุ์ Cai Mon

“จุดแข็งของทุเรียนเวียดนาม” คือ เนื่องด้วยเวียดนามมีพรมแดนติดกับจีน ทุเรียนที่ส่งออกไปจึงมีความสดใหม่ ต้นทุนขนส่งก็ต่ำกว่าไทยด้วย อีกทั้งเวียดนามยังมีค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำกว่าไทย

ข้อมูลจาก Rocket Media Lab คำนวณเวลาทำงาน 8 ชม./วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 ค่าแรงเวียดนามอยู่ที่ราว 323 บาท/วัน ในขณะที่ไทยอยู่ที่ราว 331 บาท/วัน

แม้ปัจจุบัน ค่าแรงทั้งสองประเทศ จะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่หลังจากการเลือกตั้งปี 2566 ในไทยเสร็จสิ้น มีแนวโน้มว่า รัฐบาลใหม่ของไทย อาจปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 400-600 บาท/วัน ซึ่งเป็นนโยบายที่หลายฝ่ายต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

 

  • มาเลเซียงัดจุดแข็ง “ทุเรียนพรีเมียม”

ทุเรียนมาเลเซีย ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ที่ 0.7% โดยมี “จุดแข็งสำคัญ” คือ มาเลเซียสามารถทำให้ทุเรียนตนขึ้นไปสู่ระดับพรีเมียมของตลาดจีนได้ พันธุ์ทุเรียนดังกล่าว คือ “พันธุ์มูซานคิง” ซึ่งชาวจีนมองพันธุ์นี้เป็นดั่ง “แอร์เมส” (Hermes) ของจีน

 

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

- ทุเรียนมูซานคิง (เครดิต: Kyle Lam/Wikipedia) -

 

ราคาขายพันธุ์นี้สูงกว่าไทยและเวียดนามมาก ที่ราคา 256-376 หยวน/กก. หรือราว 1,300-1,900 บาท/กก. จากร้านขายผลไม้แฟรนไชส์ GuoShuHao ในกรุงปักกิ่ง ของจีน ระหว่างวันที่ 16-31 มี.ค. 2566

 

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

- ข้อมูลราคาขายปลีกทุเรียนจากร้านแฟรนไชส์ผลไม้และซูเปอร์มาร์เก็ต ในกรุงปักกิ่ง (เครดิต: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง) -

 

สำหรับทุเรียนมาเลเซียที่ส่งขายในจีนยังคงอยู่ในรูปแช่แข็งทั้งลูก ยังไม่สามารถส่งในรูปทุเรียนสดเช่นเดียวกับไทยและเวียดนามได้

ความแตกต่างทุเรียนพันธุ์มูซานคิงของมาเลเซียกับไทย คือ ทุเรียนมูซานคิงจะเก็บในขณะที่ลูกสุกแล้ว ร่วงลงสู่พื้น ในขณะที่ทุเรียนไทยมักจะเก็บจากต้น จึงทำให้ทุเรียนมาเลเซียมีความหวาน และเนื้อจะเละกว่าทุเรียนหมอนทองของไทย 

ทุเรียนมาเลเซียในขณะนี้ ยังมีส่วนแบ่งตลาดทุเรียนโลกที่ยังคงน้อย 0.7% เน้นทำการตลาดกับลูกค้าพรีเมียมในจีน และค่าขนส่งไปยังจีนก็สูงกว่าไทยและเวียดนาม

 

บัลลังก์ ‘ทุเรียนไทย’ ถูกท้าทาย ‘จีน’ ปลูกทุเรียนเอง ‘เวียดนาม-มาเลย์’ เร่งเครื่อง

- ศึกมงกุฎทุเรียน (กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ) -

 

  • “จีน” ทดลองปลูกเอง ท้าทายทุเรียนไทย

ปัจจุบัน จีนกำลังทดลองปลูกทุเรียน ที่มณฑลไหหลำกว่า 12,500 ไร่ และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายทุเรียนออกสู่ตลาดจีนได้ภายในปี 2567 ประมาณ 45,000 – 75,000 ตัน/ปี ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีการยืนยันว่ารสชาติทุเรียนที่ปลูกในจีนนี้ จะสามารถทดแทนทุเรียนจากไทยได้หรือไม่

นางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองชิงต่าว ประเทศจีน มองว่า ทุเรียนที่จีนผลิตเองได้ก็กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดจีน ในระยะสั้นนี้ จะยังไม่กระทบความต้องการทุเรียนไทยมากนัก แต่ในระยะยาว ตัวเลือกทุเรียนจากคู่แข่งในประเทศอาเซียนที่มากขึ้น ประกอบกับผลผลิตภายในจีนก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกวัน

“นั่นทำให้มีการเปรียบเทียบเชิงคุณภาพ ความสดใหม่ ระยะเวลาการได้รับทุเรียน และราคา อีกทั้งเทคโนโลยีการปลูกทุเรียนจีนก็ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้จะทำให้ทุเรียนไทยได้รับผลกระทบในระยะต่อไปได้”

 

  • แนวทางรับมือคู่แข่งทุเรียนไทย

แม้ทุเรียนไทยจะครองส่วนแบ่งทุเรียนโลกสูงถึง 93.3% และเป็นที่นิยมจากชาวจีนมายาวนาน แต่จากการที่เวียดนามมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 6% ประกอบกับในจีนก็กำลังทดลองปลูกทุเรียนเอง

บรรดาผู้ประกอบการทุเรียนไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนในไทยให้มีผลผลิตมากขึ้น สุกเร็วขึ้น มีรสชาติที่อร่อยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถแปรรูปทุเรียนสด มาเป็นสินค้าต่าง ๆ ส่งออกจีนได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอมทุเรียน กาแฟทุเรียน ชาทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน มาสก์หน้าทุเรียน เบียร์ทุเรียน ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างการจดจำในทุเรียนไทย เพราะหากเน้นเฉพาะทุเรียนสด ก็จะซ้ำกับทุเรียนประเทศคู่แข่งได้ง่าย

สุดท้ายนี้ ไทยอาจรับมือด้วยการขยายตลาดทุเรียน จากเดิมที่พึ่งพาเฉพาะตลาดจีนสูงถึง 90% มาเป็นการเปิดตลาดใหม่ในอินเดีย ในอาหรับ ในตะวันตก หรือในแอฟริกามากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนเพียงอย่างเดียว ดังที่เห็นจากช่วงจีนปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทบต่อผู้ส่งออกทุเรียนไทยและภาคการท่องเที่ยว

ดังนั้น หากไทยเตรียมรับมือตามวิธีเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที ก็อาจช่วยรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ของทุเรียนไทยต่อไปได้

อ้างอิง: posttoday bloomberg thairath rocketmedialab bangkokbiznews bangkokbanksme(2) thaibizchina thaibizchina(2) vnexpress vnexpress(2) globthailand xinhuathai dailynews dhl thaipbs ditp