“ก้าวไกล” ขึ้นแน่ค่าแรง 450 บาท เล็งหามาตรการช่วยภาคธุรกิจ

“ก้าวไกล” ขึ้นแน่ค่าแรง 450 บาท เล็งหามาตรการช่วยภาคธุรกิจ

นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถือว่าเป็นนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งที่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งอันดับ 1 และอันดับ 2 คือ “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเพื่อไทย” ที่กำลังจับมือกันตั้งรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายที่จะดำเนินการเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล

โดยในส่วนของพรรคก้าวไกลมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน โดยกำหนดไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่จะทำภายใน 100 วันแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล

ส่วนพรรคเพื่อไทยมีนโยบายจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาทภายในปี 2570 หลังจากที่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องปีละประมาณ 5%

ที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำไทยไม่ได้มีการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี และมีการขึ้นค่าแรงตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักสิบบาทต่อวัน โดยในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา มีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดสูงสุดในยุคของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นจาก 215 บาท ต่อวัน ไปเป็น 300 บาทต่อวัน 

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดในปี 2565 ก็เป็นการขึ้นค่าแรงในรอบ 2 ปีนับจากปี 2563 โดยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามค่าครองชีพรายจังหวัด ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 328-354 บาท  โดยปรับขึ้น 5.02%

ในปี 2566 นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต้องการจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ท่ามกลางข้อกังวลของภาคธุรกิจที่เป็นห่วงเรื่องต้นทุนและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนแรกจะเป็นการผลักดันเป้าหมายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคก้าวไกลที่ระบุว่า จะผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 450 บาทต่อวัน ซึ่งพรรคก้าวไกลระบุว่าได้หารือกับพรรคเพื่อไทยแล้วและพรรคเพื่อไทยไม่ได้ขัดข้องในเรื่องนี้

ภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรค เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 ได้มีการหารือระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคร่วมรัฐบาลถึงการจัดทำนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและธุรกิจที่ภาคเอกชนกังวล เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ

ล่าสุดในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในการหารือกับพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลว่าอยู่ระหว่างหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดทำนโยบายของรัฐบาล

โดยเรื่องของ ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท นั้นเป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลกำหนดไว้ในนโยบายเร่งด่วน 100 วันแรก โดยเรื่องนี้ได้มีการหารือกับภาคเอกชนบางส่วนแล้ว แต่หลายบริษัทอาจกังวลต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ หรือกังวลว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจถึงมาตรการเยียวยา รวมทั้งหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลต่อไปถึงนโยบายนี้

“ทุกนโยบายรวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเริ่มเดินหน้าได้หลังมีรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ให้สัญญาณทางบวกว่าไม่ขัดข้องเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่อย่างไร”

รวมทั้งยังมีหลายนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องพูดคุยกัน ต้องพูดคุยกัน เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการหารือกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง รวมถึงนโยบายอื่นของพรรคร่วม เพราะถ้าหากยึดเพียงแต่นโยบายของพรรคก้าวไกล อาจเป็นการไม่ให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล

 

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ

สำหรับเหตุผลในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน เป็นนโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญเร่งด่วนคือการเพิ่มรายได้การลดค่าใช้จ่ายและเรื่องของความมั่นคง โดยนโยบายในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับประชาชนโดยการเพิ่มเป็น 450 บาทต่อวันถือว่ามีความเหมาะสม และทำได้ทันทีเนื่องจากก่อนนี้ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำน้อยมาก

“หัวใจคือการขึ้นอัตโนมัติทุกปีโดยดูจากค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้นายจ้างสามารถที่จะวางแผนต้นทุนได้ และแรงงานก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 450 บาทต่อวันถือว่าเป็นการขยับราคาค่าจ้างที่เหมาะสมเมื่อคิดจากช่วงที่ผ่านมาที่มีการปรับน้อยมาก” ศิริกัญญา กล่าว

นอกจากนี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีแผนที่จะหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย

การหารือระหว่างพรรคก้าวไกลและภาคเอกชนจะเป็นการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งเริ่มต้นด้วยการหารือกับ ส.อ.ท.เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2566 ซึ่งมีการสอบถามถึงแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อพรรคก้าวไกล

นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องการสร้างความมั่นใจต่อภาคเอกชนและนักธุรกิจถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าเมื่อนักธุรกิจได้รับฟังก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา

"บางเรื่องที่ต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องที่ต้องรอบคอบก็ต้องรอบคอบ ซึ่งจะมีการคุยกับภาคเอกชนเพื่อรับฟังความเห็นทั้งเรื่องแรงงานและเอสเอ็มอี ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง ในขณะที่ภาคเอกชนต้องการนโยบายการจ่ายค่าจ้างแบบ Pay by skill ก็เป็นแนวคิดที่ตรงกับพรรคก้าวไกล”

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นความกังวลตั้งแต่แรกที่พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 มีนโยบายขึ้นค่าแรง ทั้งพรรคก้าวไกลขึ้น450 บาททุกปี ส่วนพรรคเพื่อไทยปรับ 600 บาทในระยะ 4 ปี 

“นายพิธาเองเป็นผู้ประกอบการมาก่อนเป็นนักการเมืองจึงเข้าใจบริบทของผู้จ่ายค่าจ้าง เพราะฉะนั้นการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่เสนอกันไว้อาจเป็นยาแรงเกินไป”

นอกจากนี้ ภาคเอกชนต้องการให้พรรคก้าวไกลพิจารณาประเด็นขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทย นโยบายช่วยเหลืออุตสากรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบาง ทำอย่างไรให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าด้วยกลไกเศรษฐกิจใหม่

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้มีการประเมินผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 450 บาท จะทำให้ประเทศไทยอาจสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการ ลงทุนและการส่งออกตลาดภายในจะได้รับผลกระทบ 

รวมทั้งผลดีจะตกไปอยู่กับประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งจะส่งสินค้าราคาถูกกลับเข้ามาขายในประเทศ การว่างงานคงไม่ใช่ประเด็นเพราะไทยอัตราการเกิดต่ำและขาดแคลนแรงงานแต่หากอุตสาหกรรมย้ายออกไปลงทุนต่างประเทศและ/หรืออุตสาหกรรมในประเทศได้รับ ผลกระทบสินค้าราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านผลกระทบมากน้อยคงต้องติดตามต่อไป

นอกจากนี้ จากการศึกษาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างก้าวกระโดด 300 บาททั่วประเทศ(ปี 2555-2556) โดยช่วงเวลานั้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับขึ้น 40% ส่วนจังหวัดอื่นปรับขึ้น 70-80% พบว่าการ ขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) เฉลี่ย 5 ปีขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.8% โดยในปี 2557 หลังจากปรับขึ้น ค่าแรงสูงเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.0% 

ส่วนด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ผ่านการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ มูลค่าก่อนหน้านั้นประมาณ 1.022 ล้านล้านบาท หลังปรับค่าจ้างก้าวกระโดดการลงทุนทางตรงช่วง 4 ปีต่อมา เฉลี่ยเหลือปีละ 2.262 แสนล้านบาท ปีพ.ศ.2565 คาดว่าการลงทุน FDI จะมีมูลค่าประมาณ 4.553 แสนบาท

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ของทั้ง 2 พรรค มีความแตกต่างกัน คือ พรรคก้าวไกลปรับค่าจ้างวันละ450 บาท และลดเวลาทำจาก 48 ชั่วโมงเหลือ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยปรับค่าแรงอัตราเดียวทั่วประเทศอัตราวันละ 600 บาท และปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีจาก15,000 บาทเป็น 25,000 บาท แต่จะทยอยปรับภายในเวลา 5 ปี หรือภายในปี 2570 

ในขณะที่อัตราปัจจุบันต่ำสุดวันละ 328 บาท และสูงสุดวันละ 354 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 341 บาท ซึ่งมีนัยยะว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 5% และระบุว่ามีผลทันทีนับจากปีแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล 

ประเด็นที่ต้องเข้าใจตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้มแข็งช่วงช่วง 5 ปีก่อนโควิด-19 (2558-2562) เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.3% และในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2.6% ขณะที่ในปีนี้ภาคส่งออกอาจขยายตัวได้เพียง 0.4% แต่ยังคาดการณ์ทางบวกว่าGDP อาจขยายตัวได้ 3.5-3.7%

ส่วนผลกระทบจากนโยบายประชานิยมหาเสียงค่าจ้างขั้นต่ำ โดยการปรับค่าจ้างชี้นำจะเป็นการทำลายโครงสร้างคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (คณะกรรมการไตรภาคี) ซึ่งช่วง 30 ปีที่ผ่านมาค่าจ้างขั้นต่ำในการพิจารณาของไตรภาคีถึงแม้บางครั้งภาคการเมืองจะเข้ามาก็ต้องอยู่ภายใต้ไตรภาคี การประกาศนโยบายเช่นนี้จะทำลายโครงสร้างค่าจ้างที่พิจารณาจากสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างและความเดือดร้อนของลูกจ้าง

ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบ ทั้งอุตสาหกรรมรับจ้างการผลิต อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรรวมถึง SME ขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากกว่าขนาดใหญ่ 

ขณะที่ผลกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดทำให้เกิดเงินเฟ้อจากค่าจ้าง “Wage Price Spirals” ส่งผลทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงกระทบไปถึงประชาชน รวมทั้ง FDI และการลงทุนในประเทศในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจะลดลงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันการลงทุนลดน้อย และถอยลงเสียแชมป์การลงทุนและการส่งออกให้กับประเทศเวียดนาม