เปิดนโยบายแก้สัญญาซื้อไฟเอกชน รื้อ 'ค่าความพร้อมจ่าย' ต้นตอค่าไฟแพง

เปิดนโยบายแก้สัญญาซื้อไฟเอกชน รื้อ 'ค่าความพร้อมจ่าย' ต้นตอค่าไฟแพง

“ค่าความพร้อมจ่าย” ต้นต่อค่าไฟฟ้าแพง เปิดนโยบายเจรจาขอแก้สัญญาซื้อไฟจากผู้ผลิตเอกชน หวังลดค่า Ft ให้ตำลง เผยปัจจุบัน กฟผ.ทำสัญญารับซื้อไฟจาก IPP รวม 12 บริษัท กำลังการผลิต 14,873 เมกะวัตต์ ซื้อไฟจาก SPP รวม 9,470 เมกะวัตต์

Key Points

  • ค่าความพร้อมจ่าย เป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่ต้องจ่ายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแม้จะไม่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า
  • เริ่มมีการนำเสนอนโยบายแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน เพื่อขอลดค่าพร้อมจ่าย เพื่อให้ประชาชนเสียค่าไฟฟ้าถูกลง
  • การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้มีการชูนโยบายเจรจาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนให้ลดค่าพร้อมจ่ายและลดค่าประกันความร้อน จะทำให้ค่าไฟถูกลงหน่วยละ 1 บาท
  • ปัจจุบัน กฟผ.ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ 12 บริษัท รวมกำลังการผลิต 14,873 เมกะวัตต์ และทำสัญญากับผู้ผลิตรายเล็ก 9,470 เมกะวัตต์

    ค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นในงวด ม.ค.-เม.ย.2566 ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสาเหตุของค่าไฟฟ้าแพง โดยนอกจากค่าไฟฟ้าฐานที่มีการเรียกเก็บแล้ว ในบิลค่าไฟฟ้าจะมีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เป็นการเก็บเพิ่มเติม โดยเป็นการคำนวณจาก 2 ส่วน สำคัญ คือ

    1.ค่า Fuel Adjustment Cost (FAC) คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากฐาน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ค่าซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ

    2.ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AF) ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ภาครัฐทำสัญญารับซื้อไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่งคำนวณจากเงินลงทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าและค่าบำรุงรักษาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มมีการเสนอความเห็นในการลดค่าไฟฟ้าลง โดยมีการเสนอให้ภาครัฐเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) เพื่อลดค่าพร้อมจ่าย หรือ AF

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ขอปกป้องผลประโยชน์คนไทยตรวจสอบสัญญาที่มีผลให้ค่าไฟแพง โดยมีการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศในสัดส่วน 60% ซึ่งมีผลทำประชาชนจ่ายค่าไฟแพงจึงต้องมีการปรับโครงสร้างพลังงาน

พรรคไทยสร้างไทยนำเสนอข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าปัจจุบันอยู่ที่ 33,000 เมกะวัตต์ แต่มีการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าสูงถึง 54,000 เมกะวัตต์ เกินความจำเป็นเกือบ 60% ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟส่วนเกิน 26,000 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ พรรคไทยสร้างไทยมีข้อเสนอการปรับลดค่า Ff โดยเจรจาลดค่าพร้อมจ่าย (AP) ลง 0.70 บาท/หน่วย และลดค่าประกันความร้อน (EP)  0.30 บาท/หน่วยทันที  จะสามารถลดค่าไฟฟ้า 1 บาท/หน่วย

พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอรื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ที่จะลดค่าไฟ 70 สตางค์ต่อหน่วย

รวมทั้งจะชนกับกลุ่มทุนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่าย หรือ ค่า AP ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายเป็นหนึ่งในโครงสร้างของค่า Ft

รายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ปัจจุบัน กฟผ.มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ รวม 5,720 เมกะวัตต์ รับซื้อจาก โรงไฟฟ้าพลังน้ำเทิน-หินบุน , โรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเฮาะ , โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 , โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 , โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี๊ยบ 1  , โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย , บริษัท ไฟฟ้า หงสา จำกัด (โรงไฟฟ้าหงสา) และโครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย (HVDC)

2.ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) จำนวน 14,873 เมกะวัตต์ ทำสัญญารับซื้อจาก 12 บริษัท ประกอบด้วย

บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) , บริษัท โกลว์ ไอพีพี จำกัด , บริษัท อีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิเล็คตริค จำกัด  , บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด

บริษัท กัลฟ์เพาเวอร์เจนเนอเรชั่น จำกัด , บริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอส จำกัด , บริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด และบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด , บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด , บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด

3.ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก รวมกำลังการผลิต 9,470 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น

ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration 75 บริษัท และพลังงานหมุนเวียน 17 บริษัท

ประเภทสัญญา Non-firm ระบบ Cogeneration 6 บริษัท และพลังงานหมุนเวียน 57 บริษัท