ส่งออกข้าวไทย 2 เดือนพุ่ง 28% คาดการณ์ทั้งปีที่ 7.5-8 ล้าน

ส่งออกข้าวไทย 2 เดือนพุ่ง 28% คาดการณ์ทั้งปีที่ 7.5-8 ล้าน

ส่งออกข้าวไทย 2 เดือนพุ่ง 28% เบอร์ 2 ส่งออกข้าวโลก อานิสงส์อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน จำกัดส่งออกบวกกับตลาดยังเชื่อมั่นและต้องการข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดการณ์ส่งออกข้าวทั้งปีที่ 7.5-8 ล้าน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000-730,000 ตัน เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้นจากการที่อุปทานข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน มีปริมาณจำกัด ขณะที่ผู้นำเข้าที่สำคัญของไทยยังคงนำเข้าทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยสต็อกข้าวในประเทศที่มีปริมาณลดลง ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้นทำให้มีอุปทานข้าวที่ส่งออกได้มากขึ้น

ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้จากการที่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 5 เมษายน 2566 อยู่ที่ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 473-477 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน  อินเดียอยู่ที่ 432-436  ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 483-487 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 517 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดียอยู่ที่ 378-382 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่  473-477 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
 

สำหรับการส่งออกข้าวไทยในช่วง 2 เดือน พบว่าไทยยังรั้งเบอร์ 2 เป็นผู้ส่งออกข้าว ตามหลังอินเดียที่ยังคงครองแชมป์เบอร์ 1 ส่งออกข้าวในปริมาณ 1.69 ล้านตัน ลดลง 24% อันดับ 3 คือ เวียดนาม ปริมาณส่งอออก 0.89 แสนตัน ลดลง 8.3% ปากีสถานปริมาณส่งออก 0.63 แสนตัน ลดลง 24% และสหรัฐ ส่งออกได้ปริมาณ 0.19 แสนตัน ลดลง 42% โดยอินโดนนีเซียยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวสูงสุด ปริมาณ 253,887 ตัน  อิรัก ปริมาณ 163,554 ตัน สหรัฐปริมาณ 108,683 ตัน เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยยังคงคาดการณ์ส่งออกข้าวทั้งปีที่ 7.5-8 ล้าน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณ 1,405,214 ตัน มูลค่า 25,404.1 ล้านบาท (753.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 28.2% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 38.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 1,095,693 ตัน มูลค่า 18,376.8 ล้านบาท (556.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

โดยการส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณ 599,696 ตัน มูลค่า 11,127 ล้านบาท โดยปริมาณลดลง 25.6% และมูลค่าลดลง 22.1% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ที่มีการส่งออกปริมาณ 805,519 ตัน มูลค่า 14,277 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลงมากจากเดือนก่อน
 

เพราะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซียและบังคลาเทศมีปริมาณลดลง ประกอบกับผู้นำเข้าบางส่วนชะลอการซื้อเพื่อรอดูผลผลิตข้าวนาปรังที่จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 312,556 ตัน ลดลง 10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

โดยส่วนใหญ่ส่งไปประเทศอิรัก อินโดนีเซีย โมซัมบิก แทนซาเนีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ญี่ปุ่น แคเมอรูน เป็นต้น ส่วนข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 53,894 ตัน ลดลงถึง 71.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดประจำ เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 99,380 ตัน เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น