ปลดล็อคศักยภาพเมือง บูรณาการรัฐ-เอกชน พัฒนาเมืองแห่งอนาคต

ปลดล็อคศักยภาพเมือง บูรณาการรัฐ-เอกชน พัฒนาเมืองแห่งอนาคต

บทความโดย ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ที่นำเสนอแนวทางการพัฒนา ผ่านการขับเคลื่อนของ 'บริษัทพัฒนาเมือง' ในหลายจังหวัด ที่กำลังศึกษาแนวทางการลงทุน โดยร่มมมือกับหน่วยงานในไทยและต่างประเทศ เช่น สกสว. ธนาคารโลก

ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นแนวโน้มของโมเดลการพัฒนาเมืองแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) โดยการจัดตั้ง “บริษัทพัฒนาเมือง” ขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย

เป็นการขับเคลื่อนโดยนักธุรกิจท้องถิ่นและภาคประชาชน ในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ผ่านการสนับสนุนการลงทุนในระบบคมนาคมขนส่ง การปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจของเมือง การแสวงหาและส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ  

โดยไม่ได้พึ่งพาการพัฒนาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

และที่น่าสนใจมากคือ บริษัทพัฒนาเมืองเหล่านี้ เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองด้วยองค์ความรู้ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงาน เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) รวมถึงองค์ความรู้ระดับสากลจากภาคี เช่น ธนาคารโลก อีกด้วย

การกลายเป็นเมืองและการเติบโตของเมือง เป็นสิ่งที่เกิดควบคู่ไปกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมักจะเกิดขึ้นในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค หรือกิจกรรมการค้าการผลิต

จากฐานข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อปี 2564 ประชากรไทยประมาณ 37 ล้านคน หรือราวร้อยละ 52 อาศัยอยู่ในเขตเมือง

ในอดีตการพัฒนาของเมืองในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เป็นการพัฒนาแบบกระจุกตัว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของเมืองต่าง ๆ นอกเหนือไปจากกรุงเทพมหานคร เริ่มมีมากขึ้น

ประกอบกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยิ่งทำให้แนวโน้มของการเจริญเติบโตของเมืองต่าง ๆ เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรจะส่งเสริมให้ทุกเมืองมีความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชากร ได้ดียิ่งๆ ขึ้น

เนื่องจากเมืองเหล่านี้ ยังอยู่ในระยะแรกของการพัฒนา จึงเป็นเวลาและโอกาสที่จะวางแผนการพัฒนาเมืองให้ดี

ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การกำกับดูแลและตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสาธารณะ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานที่บริหารจัดการเมืองเองด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายที่เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ประการหนึ่ง ได้แก่ งบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาเมืองอย่างเหมาะสม

มีการประมาณการว่า ในปี ค.ศ.2050 ประชากรโลกร้อยละ 68 จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง และในแต่ละปีจะต้องมีการลงทุนพัฒนาเมืองราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอีกราวปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ด้วยจำนวนเงินขนาดนี้ การจะพึ่งพางบประมาณของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก งบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับการพัฒนาเมืองคงจะไม่เพียงพอต่อการลงทุนพัฒนาเมืองต่างๆ ของประเทศอย่างแน่นอน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดระบบการเงินการคลังท้องถิ่นให้เข้าถึงเงินทุนที่จะพัฒนาเมืองได้มากขึ้น มีกลไกด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการลงทุนอย่างเป็นระบบในการพัฒนาเมือง

หลายๆ ประเทศ มีนโยบายเปิดให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ภายใต้ Municipal Public Private Partnership (Municipal PPP) Framework

มีหลักการคล้ายกันกับกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) แต่ปรับให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงการที่ขนาดเล็กกว่าโครงการของรัฐบาลส่วนกลาง

ธนาคารโลกได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับการดำเนินโครงการ Municipal PPP โดยได้รับการสนับสนุนจาก Global Platform for Sustainable Cities ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โครงการที่ใช้รูปแบบการร่วมทุนเช่นที่ว่านี้ อาทิ ระบบขนส่งสาธารณะของเมือง ระบบการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสีย โครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาและการท่องเที่ยว การจัดการพลังงานและไฟส่องสว่าง โรงพยาบาล และการศึกษา

เช่นเดียวกันกับหลักการของ PPP ของรัฐบาล ในการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในระดับเมือง นอกจากจะมีขอบเขตที่มุ่งเน้นโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยใช้เงินลงทุนร่วมกันและแบ่งการรับความเสี่ยงระหว่างรัฐและเอกชนแล้ว ยังสามารถใช้ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชน เกิดการถ่ายทอดความรู้ไปยังหน่วยงานและบุคลากรของภาครัฐ ในโครงการ PPP ของรัฐบาล งบประมาณของรัฐที่นำมาร่วมลงทุนมักจะมาจากรายได้ของรัฐวิสาหกิจและเงินภาษี

สำหรับโครงการ PPP ระดับเมืองนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรต้องคำนึงถึงการจัดหารายได้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำมาร่วมลงทุน โดยการจัดเก็บรายได้ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอา GIS มาใช้ การพัฒนา land value capture หรือ commercial value capture และการคำนวณ carbon credits จากการลงทุนในโครงการ low carbon

ปัจจัยความสำเร็จของโครงการการร่วมลงทุนในการพัฒนาเมือง ยังต้องได้รับการส่งเสริมในด้านอื่น ๆ เพื่อบูรณาการให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี การระดมทุนและการจัดหาเงินทุนจากสถาบันการเงิน เป็นต้น เพื่อให้เอกชนสามารถบริหารจัดการต้นทุนการลงทุนในช่วงเริ่มต้นโครงการได้

ตลอดจนการพิจารณาการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ที่เหมาะสมกับผลประกอบการ และสุดท้ายที่เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง คือความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบของการระดมทุน ร่วมทุน ที่เหมาะสมนั้น จะทำให้โครงการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต มีการบริหารจัดการที่ดี และดำเนินโครงการอย่างสอดคล้องและเป็นระบบ เพื่อให้เป็น sustainable smart and living cities ต่อไป