'ศาลปกครองสูงสุด' ยกฟ้อง BTS อุทธรณ์คดีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายสีส้มครั้งแรก

'ศาลปกครองสูงสุด' ยกฟ้อง BTS อุทธรณ์คดีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายสีส้มครั้งแรก

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องปม รฟม.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 ระบุดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย ชี้ "บีทีเอส" ไม่ได้รับความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 1 มี.ค.2566 เวลา 9.30 น.ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.572/2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)

ในการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเอกสารคัดเลือกเอกชน ในการประกวดราคาครั้งที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ทำให้เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเสียหาย

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์​การประมูลครั้งที่ 1 ตามที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องไว้ เนื่องจากศาลฯ วิเคราะห์ว่าผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.มีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมาย

อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ที่โครงสร้างงานโยธาที่ละเอียดอ่อนจากการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน ส่งผลให้คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกข้อเสนอด้านเทคนิค จึงแก้ไขหลักเกณฑ์เกิดขึ้น และผลของการแก้ไขหลักเกณฑ์พบว่าในภาพรวมมีผลทำให้คะแนนประเมินเปลี่ยนไปเพียง 3 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิคเท่านั้น

ส่วนกรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์​ประเมินที่ทาง BTSC ยื่นอุทธณ์ว่าอาจเกิดขึ้นปัจจัยภายนอก​นั้น ศาลฯ วิเคราะห์​แล้วว่า คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.ได้มีข้อกำหนดไว้ว่าเปิดกว้างให้ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย​สามารถยื่นข้อเสนอแนะในการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ยื่นข้อเสนอแนะเท่านั้น

แต่พบว่าเอกชนหลายราย รวมทั้ง BTSC ก็มีการยื่นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์

ดังนั้นศาลฯ วิเคราะห์ว่าไม่อาจนำประเด็นนี้มาตัดสินได้ว่า กรณีที่คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.ไม่ได้นำประเด็นของ BTSC มาหยิบยกพิจารณาก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่ง

ขณะเดียวกันการแก้ไขหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนนั้น คณะกรรมการ ม. 36 และ รฟม.ยังมีข้อกำหนดเปิดกว้างให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติ สามารถรวมกลุ่มตั้งกิจการร่วมค้าและยื่นข้อเสนอได้ ดังนั้นจึงถือเป็นกานกระทำที่ไม่ได้ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์รายใดรายหนึ่ง

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนที่เกิดขึ้น ทางคณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.ยังได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอมีระยะเวลาทำข้อเสนอ 45 วัน และเกณฑ์คัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงเพียงส่วนของซองที่ 2 ด้านเทคนิค

ศาลฯ จึงวิเคราะห์ว่า BTSC ไม่ได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ เพราะมีเวลาในการแก้ไขข้อเสนอ อีกทั้งหลักเกณฑ์คัดเลือกเปลี่ยนไปเพียงบางส่วน ดังนั้นผู้ยื่นข้อเสนอจึงสามารถแก้ไข้ข้อเสนอเพียงบางส่วนได้