จับสัญญาณ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ในไทย ‘สศช.’เฝ้าระวัง แม้โอกาสเกิดยังน้อย

จับสัญญาณ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ในไทย  ‘สศช.’เฝ้าระวัง แม้โอกาสเกิดยังน้อย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ “Economic Recession” คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยคิดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของประเทศนั้น หาก GDP ลดลงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ไตรมาส จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในทางเทคนิคแล้วซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจตามมาได้

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงวันนี้ (17 ก.พ.) ปรับลดลงจากไตรมาสที่ 3 1.5% ซึ่งหากในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เศรษฐกิจปรับตัวลดลงอีกไตรมาสจะถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคได้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ระบุถึงกรณีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2566 ยังไม่น่าจะถึงขั้นเกิด “Recession” เพราะมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการจับจ่าย แต่ก็ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจในด้านต่างๆอย่างใกล้ชิดด้วย  

จับสัญญาณ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ในไทย  ‘สศช.’เฝ้าระวัง แม้โอกาสเกิดยังน้อย

“แน่นอนว่าเมื่อเห็นตัวเลขที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็อาจเกิดความตกใจกันขึ้น แต่หากมองพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศไทยแล้ว ส่วนตัวมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก และคงต้องพิจารณามาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ก่อนว่าจะมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ทั้งการเร่งการส่งออก

รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาสขยายตัวต่อไปได้ตอนนี้ยังตอบอะไรได้ไม่มากเกี่ยวกับ Technical Recession เพราะต้องดูปัจจัยที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นว่าเกิดจากอะไร และจะมีความรุนแรงต่อเนื่องหรือไม่ โดยสศช. จะติดตามสถานการณ์ต่อไป” 

นายดนุชากล่าวต่อว่าในส่วนของเศรษฐกิจโลกนั้นในหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยง ที่จะเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ได้แต่เรื่องดังกล่าวคงต้องดูลึกลงไปในรายละเอียดก่อน เพราะ Technical Recession ที่ผ่านมาในประเทศเศรษฐกิจหลักก็เกิดเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นที่ภาคไหน และต้องดูพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศนั้นๆด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากเกิดเศรษฐกิจถดถอยจะฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างไร

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2566 สศช.มองว่า จีดีพีจะขยายตัวได้ประมาณ 2.7 – 3.7% (ค่ากลางที่ 3.2%) ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจ 2566 ขยายตัวได้ 3.5% โดยส่วนที่มีการปรับตัวลดลงมากคือเรื่องของภาคการส่งออกที่คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะติดลบ 1.6% ตามการลดลงของสมมุติฐานราคาส่งออก และปริมาณการค้าโลกที่หดตัวลง

อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นชัดเจนโดย สศช.ปรับคาดการณ์ภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 23 ล้านคน เป็น 28 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1.31 ล้านล้านบาท เทียบกับ 0.58 แสนล้านบาทในปี 2565 ที่ผ่านมา