'สศช.'เปิดสถิติ 30 ปี ไทยเจอน้ำท่วม 40,000 ครั้ง เศรษฐกิจเสียหาย 12.6 ล้านล้าน

'สศช.'เปิดสถิติ 30 ปี ไทยเจอน้ำท่วม 40,000 ครั้ง เศรษฐกิจเสียหาย 12.6 ล้านล้าน

ปัจจุบันปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัญหาโลกร้อน สร้างความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ของโลกรวมทั้งประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติเช่นกัน

รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 3 เผยแพร่โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลในรายงานเรื่อง “เมื่อโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว : เราจะรับมืออย่างไร” โดยมีสาระสำคัญว่า จากการประมวลความถี่ของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  พบว่าในช่วงหนึ่งอายุของคนที่เกิดในปี 2563 จะมีโอกาสเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าคนที่เกิดในปี 2503 ถึง 3 เท่า โดยรายงานการค้าและการพัฒนา (Trade and Development Report 2021) จัดทำโดย UNCTAD ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2543 - 2562 ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ จำนวน 7,348 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไป 1.23 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกกว่า 4,200 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 2.97 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดอุทกภัยจำนวนมากกว่า 4 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 12.59 ล้านล้านบาท

โดยเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของเคยไทยเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมาก นับเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

จากนั้นในปี 2564 ประเทศไทยได้ประสบกับภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่าช่วงปี 2554 แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 5.3 หมื่นล้านบาท

\'สศช.\'เปิดสถิติ 30 ปี ไทยเจอน้ำท่วม 40,000 ครั้ง เศรษฐกิจเสียหาย 12.6 ล้านล้าน

ในอดีตคนทั่วไปมักคิดว่าภัยพิบัติข้างต้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือผลมาจาก

การบริหารจัดการภัยพิบัติของภาครัฐที่ยังไม่ดีพอ แต่การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ระบุว่าภัยพิบัติดังกล่าว เป็นผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น โดยรายงาน ผลการศึกษาของ The Intergovernmental Panel on Climate Change (2021) เปิดเผยว่า อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.00 องศาเซลเชียส จากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ล้านปี และส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าในอดีตถึง 3 เท่า

 

การศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า โลกร้อนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สามารถส่งผลกระทบได้กับคนสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน จากข้อมูลการสำรวจของ UNDP และ University of Oxford ในปี 2564 พบว่า มีเพียง 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นของโลก และ 59% คิดว่าจะต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วน ขณะที่ประเด็นที่ต้องได้เป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ การอนุรักษ์ป่าไม้และการใช้ที่ดิน การใช้พลังงานหมุนเวียน การทำการเกษตรที่เหมาะสม การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบขนส่งสาธารณะ และการมีโครงสร้างพื้นฐาน การเตือนภัย ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับ

ผลการสำรวจของบริษัท Meta ร่วมกับ Yale University ซึ่งปรากฎในรายงาน International Public Opinion on Climate Change 2022 ที่ระบุว่า กว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก รับรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ และรับรู้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

สำหรับประเทศไทย จากผลการสำรวจเดียวกัน พบว่า  75% ของคนไทยที่ตอบแบบสอบถาม คิดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานในระดับป่านกลางถึงร้ายแรง และ 68%

คิดว่าปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับความรับผิดชอบ

ในการลดสาเหตุการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ไขปัญหา

เป็นความรับผิดชอบของภาครัฐและภาคธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 40% และมีเพียง 28% ที่คิดว่าเป็น ความรับผิดชอบของคนทุกคน นอกจากนี้ การสำรวจส่วนหนึ่งยังพบว่า มีคนไทยเพียง 35% ที่เห็นว่าควรลดการใช้พลังงานฟอสซิล ผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนถึงความตระหนักและความใส่ใจของคนไทยต่อการแก้ไขปัญหาที่ยังมีไม่มากนัก