เศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบาง เงินเฟ้อ-พลังงาน-ดีมานด์จีนน่าห่วง

เศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบาง  เงินเฟ้อ-พลังงาน-ดีมานด์จีนน่าห่วง

สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2566 มีสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเผชิญพิษโรคร้ายอย่างโควิด-19 แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่ใช่แสงสว่างแห่งความหวังอย่างที่คิด รายงานสถานการณ์และโอกาสเศรษฐกิจโลกปี 2566

( The World Economic Situation and Prospects 2023) จัดทำโดย  สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) สาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.9% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในช่วง 10 ปี ขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมาเติบโตได้ถึง 3% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปี 2567 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้โดยจีดีพีจะโงหัวขึ้นไปถึง 2.7% 

“หัวลมของการนำเศรษฐกิจโลกให้ทะยานขึ้นกำลังจะมาถึงแต่นั่นคือปี 2567 ไม่ใช่ปีนี้ เพราะปี 2566 เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งเงินเฟ้อที่กดดันดีมานด์โลก เป็นผลจากราคาพลังงานที่ทรงตัวสูง นำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งรวมถึงเฟดของสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ปัญหาในระยสั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆทั้งการเงิน หนี้สิน ภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมรออยู่อีกมาก”

จากปัจจัยลบดังกล่าวทำให้โลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมถึงไทยมีภาพรวมเศรษฐกิจในระยะสั้นบนพื้นฐานความไม่แน่นอนแม้จีนจะเปิดประเทศแต่ก็เป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ

สถานการณ์ในประเทศจีนมีผลต่อภูมิภาคเพราะเมื่อจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ การเปิดประเทศเกิดขึ้น การท่องเที่ยวก็เกิดขึ้นเป็นผลดีต่อหลายๆประเทศซึ่งไทยก็ได้รับอานิสงค์นั้นด้วย แต่รายงานชี้ว่าการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวนี้ยังไม่ดีในระดับฐานของจีนที่เกิดคึกคักมากก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันดีมานด์ภายในของจีนก็ไม่ได้ดีอย่างเห็นได้ชัดเหมือนช่องก่อนโควิด ทำให้ประเทศในภูมิภาคจะได้รับผลกระทบต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนด้วย 

โดย ประเมินว่าหากเศรษฐกิจจีนลดลง 1% จะทำให้เศรษฐกิจประเทศในเอเชียตะวันออก รวมถึงไทย ลดลงประมาณ 0.06-0.41% เพราะเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าวัตถุดิบสำคัญ แม้ในระยะยาวจะพบว่าปัญหาซัพพลายเชนที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจมองหาแหล่งลงทุนใหม่ซึ่งจุดหมายก็คืออาเซียนเพื่อลดผลกระทบหากจีนเกิดปัญหาต่างๆขึ้นอีก 

อย่างไรก็ตาม พบว่า กลุ่มประเทศอาเซียนกลับมีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่เริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ครึ่งแรกปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกันหลายประเทศก็ต้องแก้ปัญหาจากผลกระทบที่ส่งออกไม่โดดเด่น 

ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายต้องเร่งหานโยบายที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นและลดผลต่อปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นการค้าจะมีเสรีมากขึ้น ด้วยการ หลีกเลี่ยงมาตรการที่จะเป็นข้อจำกัดต่างๆที่ไม่จำเป็น และอำนวยความสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดการสต็อกน้ำมันควบคู่ไปกับการส่งเสริมพลังงานภายในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นด้วยแผนช่วยเหลือและอุดหนุนต่างๆ  การอำนวยความสะดวกด้านดิจิทัล การนำเข้าอาหารจากแหล่งที่หลากหลาย ส่วนระยะยาวก็มุ่งไปที่การพัฒนาคน การดูแลสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาพลังงานทดแทน

เศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบาง  เงินเฟ้อ-พลังงาน-ดีมานด์จีนน่าห่วง

จากข้อมูลรายงานดังกล่าว ชี้ว่าปัญหาหนึ่งกำลังส่งต่อไปสู่อีกปัญหาหนึ่งอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามหากทำให้เรื่องหนึ่งดีขึ้นเรื่องอื่นๆก็จะตามมา 

จอร์โจ กัมบา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทย กล่าวว่า ทาง HSBC มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอลงตามราคาค่าขนส่งและราคาพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังทรงตัวเนื่องจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 

ดังนั้น HSBC จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไปและวัดผลได้ และจะปรับขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งในปี 2566 ก่อนจะคงไว้ที่ 2.50% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 

"การกลับมาของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ และการส่งออกของภาคบริการน่าจะสามารถผลักดันการเติบโตของ GDP ในปี 2566 ได้ถึง 4.1%”

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขณะนี้ หากมองในแง่ของการส่งออก อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ย่อมกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจผ่านต้นทุนการกู้ยืมที่ สูงขึ้น ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลง และในบางกรณีอาจผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเพื่อ ชดเชยต้นทุนของภาคธุรกิจ 

นอกจากนี้ จะส่งผลให้เงินบาท แข็งค่าขึ้นจากกระแสเงินทุนไหลเข้า ซึ่งล้วนส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกลดลง  สำหรับผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ในแง่ผลกระทบผ่านช่องทางการบริโภค จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจากการ บริโภคชะลอตัว เนื่องจากต้นทุนของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ผ่านสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น และกระตุ้นให้คนออมเงินเพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ก็อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงด้วย  

“เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพซึ่งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรง กดดันด้านอุปสงค์ ”

ความเปราะบางทางเศรษฐกิจจากปัจจัยเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน หรือแม้แต่ภาวะเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน เป็นความเชื่อมโยงของปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง และก็เป็นเหมือนความท้าทายที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อหาแนวทางเอาตัวให้รอดในเศรษฐกิจปี 2566นี้