“เชฟรอน” ขาย “คาลเท็กซ์” ปรับโครงสร้างธุรกิจ จับตาถอนลงทุนไทย

“เชฟรอน” ขาย “คาลเท็กซ์” ปรับโครงสร้างธุรกิจ จับตาถอนลงทุนไทย

เปิดเหตุผล “เชฟรอน” ขายปั๊มน้ำมัน “คาลเท็กซ์” ให้ SPRC หวังปรับโครงสร้างธุรกิจ จับตาถอนลงทุนไทย มองตลาดอีวีมา หากจะสู้ปั๊มอื่นต้องผนึกกำลังแข่งตลาดค่าปลีกน้ำมัน

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น เพื่อเข้าซื้อธุรกิจปั๊มน้ำมัน CALTEX จากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด โดยมูลค่าการเข้าซื้อกิจการ อ้างอิงตามที่ SPRC ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ปลายปีที่แล้ว 5,562.5 ล้านบาท ซึ่งนอกจาก SPRC จะได้ปั๊มน้ำมัน 427 แห่งทั่วประเทศไทยแล้ว ก็จะรวมไปถึงสัดส่วนการถือหุ้น 9.91% ใน บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด และ 2.51% บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS

โดย SPRC ทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน โดยมีผลิตภัณฑ์ก็เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซินที่เราเติมกัน น้ำมันสำหรับเครื่องบิน และก็ยังมีผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมีด้วย ซึ่งผลประกอบการของ SPRC ของ 9 เดือน ปี 2565 มีรายได้ถึง 2 แสนล้านบาท กำไร 9 พันล้านบาท และมูลค่าบริษัทราว 5 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทั้ง SPRC และปั๊มน้ำมัน CALTEX มีเจ้าของเดียวกันที่ถือหุ้นใหญ่ คือ เชฟรอนส่งผลให้ดีลในครั้งนี้ เสมือนการปรับโครงสร้างให้ธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจจัดจำหน่ายเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารในบริษัทเดียวกัน ส่งผลให้ CALTEX อีก 1 ปีต่อจากนี้เมื่อควบรวมเสร็จจะเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย ด้วยวงเงินที่มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินการ 5,562.5 ล้านบาทตามที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ไปก่อนหน้า ขาดก็เพียงแค่ปั๊ม SHELL เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม SPRC จะยังคงจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพภายใต้แบรนด์ คาลเท็กซ์  และ เทครอน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจและอยู่เคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน สามารถดำเนินธุรกิจการกลั่นและการตลาดได้ครบวงจรมากขึ้น

แหล่งข่าว กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SPRC เป็นเชฟรอนกว่า 60% ซึ่งหากมองในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เชฟร่อนแทบจะไม่เหลืออะไรแล้วจากเดิมที่ทราบกันดีอยู่ว่าเคยดำเนินธุรกิจด้านขุดเจาะสำรวจปิโตรเคมี ดังนั้น จากอุตสาหกรรมสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ได้ถูกดิสรัปชัน อาทิ เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

ทั้งนี้ แม้จtปรับมาเป็นอีวี แต่กำไรจากอีวีน้อยกว่าการขายน้ำมันเยอะ แต่ถ้าสามารถคงดีมานด์คนมาใช้ด้านนอนออยล์ได้ก็ยังไปได้ดี ที่ปัจจุบันปั๊มใหญ่อย่างเจ้าตลากคือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้เน้นรายได้จากนอนออยล์มากขึ้น รวมถึง บริษัท บางจาก คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้ปิดดีลเข้าซื้อหุ้นใน เอสโซ่ ประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่ PTG ถือเป็นอีกรายที่มีจำนวนปั๊มสูงสุดแม้ยอดขายจะไม่เทียบเท่าเบอร์ 1 อย่างโออาร์ได้

“วันนี้ที่เหลือ คือเชลล์ PTG ซัสโก้ ที่ไม่มีโรงกลั่น โออาร์จุดเด่นคือนอนออยล์ ส่วน PTG จุดเด่นคือจำนวนปั๊มเยอะ มีความคล่องตัวเพราะเป็นเจ้าของปั๊ม แม้จะด้อยเรื่องนอนออยล์ ส่วนบางจากเมื่อรวมกับเอสโซ่จะแข็งแกร่งขึ้นมาทันที”

ทั้งนี้ หากมองการผลึกกำลังของ SPRC กับคาลเท็กซ์ ที่ถือว่าพี่น้องซื้อกันในราคาถูกทั้งราคาและเวลา ถูกกว่าบางจากซื้อเอสโซ่เยอะ เป็นการโอนสมบัติให้ครอบครัว ดังนั้น การซื้อมาจะช่วยให้แข็งแรงขึ้น มีทั้งโรงกลั่นและปั๊มน้ำมัน กำไรเฉลี่ยปั๊มน้ำมันระดับ 500-1,000 ล้านบาท แต่ถ้าทำโรงกลั่นอย่างเดียวอาจไม่แน่นอน แม้ว่าปีที่แล้วกำไร 9,000 ล้านบาท แต่บางปีก็ขาดทุน

นอกจากนี้ เชฟรอนอยากขายธุรกิจอยู่แล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติมีความคิดไม่เหมือนคนไทย คิดว่าอะไรดีก็ไปทางนั้น อะไรไม่ดีก็ขายทิ้ง เมื่อโรงกลั่นกำไรไม่แน่นอน อนาคตรถอีวีดิสรัปชัน กำไรปั๊มน้ำมันก็ไม่ได้ดีทุกปี อีกทั้งการตลาดที่โดนรัฐบาลบีบให้ลดราคา และอีกประเด็นคือ การขายเพื่อสร้างมูลค่าว่าหากจะขายทิ้งปั๊มน้ำมันในอนาคตจะต้องมากกว่าราคาที่ขายในปัจจุบัน

“SPRC ซื้อเพราะเมื่อยังขายให้ใครไม่ได้ก็ต้องอยู่ในธุรกิจให้เป็น และเชฟรอนก็ยังต้องอยู่ในประเทศไทย จึงขายให้ลูกตัวเองดำเนินธุรกิจต่อสู้กับปั๊มอื่น ๆ ไปก่อน ส่วนอนาคตค่อยว่ากันอีกที อีกทั้งขณะนี้แหล่งสัมปทานในอ่าวไทยที่เชฟรอนเคยดำเนินการทั้งบงกชและเอราวัณได้ตกเป็นผู้รับสัมปทานใหม่อย่าง ปตท.สผ.ไปแล้ว”