เมื่ออากาศดีไม่ฟรีอีกต่อไป รู้จัก “อากาศอัดกระป๋อง” ตัวเลือกใหม่หนี PM 2.5!

เมื่ออากาศดีไม่ฟรีอีกต่อไป รู้จัก “อากาศอัดกระป๋อง” ตัวเลือกใหม่หนี PM 2.5!

ท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 กลับมาวิกฤติในไทยอีกครั้ง ก็เกิดธุรกิจใหม่ที่ใช้วิกฤติเป็นโอกาส นำอากาศบริสุทธิ์มาสร้างเงิน ธุรกิจเหล่านี้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

“คุณภาพอากาศ” กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้งในไทย หลังจากช่วงเช้าวันนี้ (2 ก.พ.) ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 190 สะท้อนว่ามีปริมาณฝุ่นพิษขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงสุดแตะอันดับ 3 ของโลก! สูงกว่านครมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีดัชนีอยู่ที่ 186 และมักติดอันดับต้นๆ ของโลกในทุกปี

เมื่ออากาศดีไม่ฟรีอีกต่อไป รู้จัก “อากาศอัดกระป๋อง” ตัวเลือกใหม่หนี PM 2.5!

PM 2.5 นี้เป็นอนุภาคที่เล็กมาก สามารถทะลุผ่านหน้ากากธรรมดาได้ และเข้าถึงปอด ผู้ที่เป็นภูมิแพ้หรือหอบหืดมักจะอ่อนไหวต่ออากาศเช่นนี้ ทำให้เหนื่อยง่าย ไอ หรือแม้แต่เลือดออกทางจมูก ในระยะยาวสามารถเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอดได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อากาศสะอาดหาได้ยาก จึงเกิดธุรกิจที่เรียกว่า “อากาศอัดกระป๋อง” ขึ้น ซึ่งเป็นการนำอากาศจากแหล่งบริสุทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาสูง ชายหาดในฮาวาย ทะเลสาบแห่งต่างๆ หรือแม้แต่อากาศจากนิวซีแลนด์ ซึ่งมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์คือ เป็นเกาะที่ไม่ติดกับประเทศใด ไม่ต้องผ่านย่านอุตสาหกรรม และย่านชุมชน เป็นอากาศที่พัดตรงจากมหาสมุทร จึงถือว่าเป็นอากาศที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง

อากาศบริสุทธิ์เหล่านี้ก็จะถูกอัดเก็บไว้ในกระป๋อง เมื่อจะใช้ก็เพียงนำกระป๋องมาต่อกับที่ครอบ และกดสูดเต็มปอด เพื่อเติมออกซิเจนเข้าสู่สมอง

จิมมี โจฮันเนส นายเเพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ เเห่งโรงพยาบาล Long Beach Medical Center ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ กล่าวว่า ในระยะยาวมลพิษทางอากาศ เเละควันพิษจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพปอด หอบหืด เเละโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การออกไปนอกบ้าน สูดอากาสอันบริสุทธิ์ด้วยการตั้งเเคมป์ หรือเดินเขาตามป่า จะช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นเเละลดความเครียด

เมื่อมองในปัจจุบัน อากาศอันบริสุทธิ์ข้างนอกหาได้ยากยิ่ง ป่าไม้ก็น้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งการออกไปสูดอากาศข้างนอกมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 มากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้อากาศบริสุทธิ์อัดกระป๋องอาจจะช่วยตอบโจทย์มลพิษทางอากาศขณะนี้ก็เป็นได้

 

  • ธุรกิจ “อากาศอัดกระป๋อง” ที่น่าสนใจ

1. อากาศอัดกระป๋องของไทย สินค้าโอทอป (OTOP) จากชุมชนหมู่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอากาศที่อยู่ในอ้อมอกของภูเขา ซึ่งมีการเคลมจุดขายว่า “มีความบริสุทธิ์กว่าอากาศมาตรฐาน 100 เท่า” ราคาจำหน่ายกระป๋องละ 49 บาท

 

เมื่ออากาศดีไม่ฟรีอีกต่อไป รู้จัก “อากาศอัดกระป๋อง” ตัวเลือกใหม่หนี PM 2.5! - อากาศอัดกระป๋องจากชุมชนคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช (เครดิต: เฟซบุ๊กบ้านสมุนไพรคีรีวง) -

 

2. Vitality Air แบรนด์จากแคนาดา จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2557 โมเซส แลม (Moses Lam) และทรอย พาเควตต์ (Troy Paquette) สองคู่ซี้ต้องการทำสิ่งที่สนุกและใหม่ ขณะที่กำลังมองขวดน้ำก็เกิดไอเดียขึ้นว่า “ในเมื่อฟิจิขายน้ำแร่ได้ ทำไมแคนาดาจะขายอากาศไม่ได้” ดังนั้นพวกเขาจึงเอาอากาศบริสุทธิ์ในบริเวณที่พวกเขานั่งผ่อนคลายกันมาอัดใส่ถุงซิปล็อก และขายใน eBay ในราคาเพียง 99 เซนต์ หรือราว 30 บาทนิดๆ

เมื่อวางจำหน่ายได้ไม่นาน ผลปรากฏว่าเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ทั้งสองจึงก่อตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา ลงทุนโรงงาน ห้องเก็บอากาศในชื่อแบรนด์ Vitality Air พัฒนาวิธีการเก็บอัดอากาศ การขนส่ง และบรรจุขายในรูปขวด

ราคาขายเฉลี่ยขวดละ 20-25 ดอลลาร์ หรือราว 660-820 บาท โดยใน 1 ขวดสามารถสูดเต็มปอดได้มากถึง 160 ครั้ง เป็นอากาศอันสดชื่นที่พวกเขาเก็บมาจากเมืองแบมฟ์ เทือกเขาร็อคกี รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ช่วยสร้างยอดขายให้พวกเขาราว 300,000 ดอลลาร์/ปี หรือประมาณ 10 ล้านบาท/ปี และเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศที่ประสบปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 อย่างในจีน และอินเดีย

เมื่ออากาศดีไม่ฟรีอีกต่อไป รู้จัก “อากาศอัดกระป๋อง” ตัวเลือกใหม่หนี PM 2.5! - อากาศอัดขวดฉีด Vitality Air จากเทือกเขาร็อคกี เเคนาดา (เครดิต:บริษัท Vitality Air) -

 

3.อากาศรัชสมัยเฮเซ เมื่อปี 2562 เกิดการเปลี่ยนรัชสมัยญี่ปุ่นขึ้น จากรัชสมัยเฮเซ เปลี่ยนเป็นรัชสมัยเรวะ เพื่อรำลึกความทรงจำรัชสมัยเฮเซ ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทางบริษัท Heso Production จึงเกิดไอเดียขึ้น ประกาศวางขายอากาศในยุคสมัยเฮเซ ในราคากระป๋องละ 1,080 เยน หรือราว 270 บาท จำกัดเพียง 1,000 กระป๋องเท่านั้น! ปรากฏว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดี ซึ่งอากาศดังกล่าวเก็บมาจากหมู่บ้านเฮนาริ จังหวัดกิฟุ ตอนกลางของญี่ปุ่น

 

เมื่ออากาศดีไม่ฟรีอีกต่อไป รู้จัก “อากาศอัดกระป๋อง” ตัวเลือกใหม่หนี PM 2.5!

- อากาศอัดกระป๋องเเห่งรัชสมัยเฮเซ (เครดิต:บริษัท Heso Production) -

ธุรกิจเหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างของการใช้วิกฤติทางอากาศมาสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้

ท่ามกลางปัญหาโลกร้อนที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น เห็นได้จากป่าไม้ในธรรมชาติลดลงเรื่อยๆ ไม่แน่ว่า “ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดสิ้น อย่างน้ำ และอากาศ” อาจกำลังเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างทองคำในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้

 

อ้างอิง: vitalityair cbc.ca cnbc dailynews bangkokbiznews sheknows

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์