มีอะไรใหม่ในกฎหมาย “บริษัทจำกัด” (2) | พิเศษ เสตเสถียร

มีอะไรใหม่ในกฎหมาย “บริษัทจำกัด” (2) | พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับ “บริษัทจำกัด”

เราได้กล่าวถึงเรื่องกฎหมายใหม่ที่มีการแก้ไขไปแล้ว 2 เรื่อง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการกล่าวถึงกฎหมายหมายใหม่สืบเนื่องจากครั้งที่แล้ว

มาตรา 8 ของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ ให้ยกเลิกความใน  (1)  ของมาตรา  1108  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ  ของบริษัท  ทั้งนี้  ควรกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหา หรือข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติหรือไม่สามารถลงมติระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้ด้วย”

ความข้อนี้เมื่อพิจารณาแล้วอาจจะมีความแปลก  เนื่องจากไม่ได้เป็นบทบังคับเหมือนลักษณะของกฎหมายทั่วไป โดยถ้อยคำตามกฎหมาย “ควรกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้ง….ฯ” มีลักษณะเป็นข้อเสนอแนะมากกว่ากฎบังคับ

ในกรณีดังกล่าว ถ้าไม่ได้กำหนดอย่างที่กฎหมายบัญญัติ จะมีผลอย่างไร? คำตอบคือคงว่าไม่มีผลอะไร เพราะความในข้อนี้ไม่ได้เป็นบทบังคับตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่บางกรณีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นไม่กี่คนก็อาจจะมีปัญหากันได้ เช่น บริษัทครอบครัวที่มีพี่น้องหลายคน ถ้าเขียนวิธีแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าก็จะเป็นการดีแก่ทุกฝ่าย

มีอะไรใหม่ในกฎหมาย “บริษัทจำกัด” (2) | พิเศษ เสตเสถียร

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 1128 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้

“มาตรา 1128 ในใบหุ้นทุก ๆ ใบให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทถ้ามี”

มาตรานี้ก็เป็นการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ จากเดิมที่ว่า “ในใบหุ้นทุก ๆ ใบให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ” ดังนั้น จากเดิมที่กรรมการ 1 คนเซ็นชื่อในใบหุ้นโล่ง ๆ ก็ให้เพิ่มการประทับตราของบริษัท (ถ้ามี) เข้าไปด้วย

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 1158 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มีอะไรใหม่ในกฎหมาย “บริษัทจำกัด” (2) | พิเศษ เสตเสถียร

“มาตรา 1158 นอกจากจะมีข้อบังคับของบริษัทไว้เป็นอย่างอื่น กรรมการมีอำนาจตามบทบัญญัติในเจ็ดมาตราต่อไปนี้” มาตรานี้ก็แก้ไขจากเดิมที่ให้กรรมการมีอำนาจอยู่ 6 มาตรา ก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็น 7 มาตราเพราะมีการเพิ่มมาตรา 1162/1  เข้ามาซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

มาตรา 11 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 1162/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1162/1 การประชุมกรรมการอาจดำเนินการโดยการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอย่างหนึ่งอย่างใด โดยกรรมการไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวในที่ประชุมก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดห้ามไว้

การประชุมกรรมการโดยการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่ากรรมการซึ่งใช้การติดต่อสื่อสารตามวรรคหนึ่งได้เข้าร่วมประชุมกรรมการ และให้นับเป็นองค์ประชุมและมีสิทธิออกเสียงในการประชุมด้วย”

มีอะไรใหม่ในกฎหมาย “บริษัทจำกัด” (2) | พิเศษ เสตเสถียร

อันนี้ก็เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้กฎหมายมีความทันสมัยยิ่งขึ้น กล่าวคือให้มีการประชุมกรรมการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้  ซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมาก

เมื่อบริษัทยินยอมให้มีการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว กรรมการที่เข้าร่วมประชุมผ่าน Zoom หรือ MS Team ก็จะต้องนับเป็นองค์ประชุมด้วย ไม่เฉพาะที่อยู่ในห้องประชุม รวมทั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมนั้นด้วย

ส่วนในรายละเอียดวิธีการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นก็ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์