มีอะไรใหม่ในกฎหมาย “บริษัทจำกัด” | พิเศษ เสตเสถียร

มีอะไรใหม่ในกฎหมาย “บริษัทจำกัด” | พิเศษ เสตเสถียร

 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับ “บริษัทจำกัด”

กฎหมายฉบับนี้ออกมาอย่างค่อนข้างจะเงียบเชียบไม่ค่อยจะเป็นข่าวแพร่หลายเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะว่า เรื่องของบริษัทจำกัดหรือที่กฎหมายเรียกว่า “บริษัทเอกชน” นั้น ผู้คนจะให้ความสนใจน้อยกว่า “บริษัทมหาชน” ซึ่งจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่และเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนมาก

แต่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับบริษัทเอกชนในครั้งนี้ นอกจากจะแก้ไขข้อขัดข้องที่มีอยู่ในทางปฎิบัติแล้ว ก็ได้เพิ่มเติมหลักการใหม่หลายประการให้กับบริษัทเอกชน

ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ประกอบธุรกิจในรูปของบริษัทจำกัด การแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้มีเกือบ 20 มาตรา ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงเฉพาะการแก้ไขส่วนที่สำคัญ ๆ ว่ามีอะไรอยู่บ้าง  

การแก้ไขประการแรกคือ ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 1097 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 1097 บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้”

ความข้อนี้หมายความว่า บุคคลใดๆ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปสามารถที่จะตั้งบริษัทได้ ป.พ.พ. แต่เดิมนั้นกำหนดว่า จะจัดตั้งบริษัทต้องมีคนอย่างน้อย 7 คน ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น 3 คน และก็มาแก้ไขครั้งนี้ก็ลดลงมาอีกเหลือ  2 คน

เหตุที่แก้ไขให้จำนวนคนน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะแต่เดิมนั้นเรามีความเชื่อว่า บริษัทเป็นองค์กรธุรกิจของกิจการใหญ่ซึ่งต้องระดมทุนด้วยการขายหุ้นให้แก่ประชาชน (ห้างหุ้นส่วนระดมทุนไม่ได้) ดังนั้นจึงต้องมีคนมากพอด้วย จึงกำหนดไว้ 7 คน อันนี้ไม่ใช่เราคิดค้นขึ้นมาเองในโลกนะครับ

ในกฎหมายอังกฤษที่เป็นต้นแบบของกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทบ้านเราสมัยก่อนก็ระบุไว้ว่าต้อง 7 คนเหมือนกัน ต่อมาภายหลัง เมื่อบริษัทใหญ่โตขึ้นมาก ๆ ก็เกิดมีหลักกฎหมายเรื่อง “บริษัทมหาชน” มารองรับ

บริษัทจำกัดจึงกลายเป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่ใครอยากทำธุรกิจแต่ไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปเสี่ย งก็นิยมใช้เป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจ จำนวนคนที่ใช้เป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทก็เลยลดน้อยลงเรื่อย ๆ

ในต่างประเทศนั้นยินยอมให้จัดตั้งบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวได้แล้ว ทำไมกฎหมายไทยจึงไม่ยอมให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นคนเดียวได้ ในขณะที่ทั้งโลกเขามีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวเกือบหมดแล้ว

เหตุผลก็เพราะ บทบัญญัติว่าด้วยบริษัทของเรานั้นอยู่ในบรรพ 3 เรื่องเอกเทศสัญญา การจัดตั้งบริษัทจึงเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง ผู้ก่อตั้งต้องมาตกลงกันว่าจะทำธุรกิจร่วมกัน บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวจึงไม่รู้จะไปตกลงกับใคร ทำให้จัดตั้งบริษัทไม่ได้

ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้จึงเป็นการลดจำนวนผู้เริ่มก่อการลงเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามกฎหมายแล้ว

หลายคนก็อาจจะคิดว่า กฎหมายน่าจะยอมให้ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทมีเพียงคนเดียวก็พอ ไม่ต้องไปหาอีกคนหนึ่งมา ก็เป็นไปได้ครับแต่ก็ต้องรอให้มีการออกกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้คือ เป็นบริษัทตามกฎหมายอื่น ไม่ใช่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบริษัทคนเดียวนอกบรรพ 3 ไปเลย 

การแก้ไขการต่อมาคือ มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา  1099 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนคือ

“หนังสือบริคณห์สนธินั้น  ให้ทำเป็นต้นฉบับไว้ไม่น้อยกว่าสองฉบับให้ลงลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ  โดยมีพยานลงชื่อรับรองด้วยสองคน  และให้นำฉบับหนึ่งไปจดทะเบียน  ถ้าการจดทะเบียนบริษัทมิได้ทำภายในสามปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนหนังสือ บริคณห์สนธิ  ให้หนังสือบริคณห์สนธินั้นสิ้นผล”

อันนี้เป็นการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ในสมัยก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้นทำได้ค่อนข้างช้าและกินเวลาหลายวัน ผู้คนก็เลยใช้วิธีจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิทิ้งไว้ก่อน จะเอาบริษัทเมื่อใดก็ค่อยไปจดทะเบียน

แต่สมัยนี้การจดทะเบียนบริษัทไม่ได้ยุ่งยากและล่าช้าเหมือนเมื่อก่อนแล้ว การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิทิ้งไว้ก่อนก็เลยไม่มีความจำเป็น กฎหมายใหม่นี้ก็ให้หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนค้างไว้มาแล้ว 3 ปีนั้นสิ้นผลไปเลย