เวอร์ชวลแบงก์ นับถอยหลัง "ธนาคารยุคเก่า"

เวอร์ชวลแบงก์ นับถอยหลัง "ธนาคารยุคเก่า"

ปัจจุบันเริ่มเห็นบริษัทขนาดใหญ่หลายรายประเทศความพร้อมในการเข้าสู่ธุรกิจ Virtual Bank ทั้งเป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทอื่น ๆ เข้ามาสู่สนามนี้ด้วย

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ตามนิยามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุไว้ คือ การให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ด้วยต้นทุนด้านพนักงาน อาคารและสถานที่ที่ลดลง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและครบวงจรขึ้น รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อยและเอสเอ็มอี ซึ่งยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ

ที่ผ่านมา ธปท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมได้กำหนดหลัเกณฑ์การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา และมีหลักการสำคัญที่ต้องการควบคุมไม่ให้การจัดตั้งธนาคารไร้สาขาส่งผลให้เกิดการเข้าถึงสินเชื่อในลักษณะที่สร้างหนี้เกินตัว รวมทั้งไม่ทำให้การปล่อยสินเชื่อส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นการกระตุ้นตลาดให้เกิดการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อ แต่ยังคงหลักการสำคัญในการเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล

ปัจจุบันเริ่มเห็นบริษัทขนาดใหญ่หลายรายประเทศความพร้อมในการเข้าสู่ธุรกิจ Virtual Bank เป็นการประกาศตัวจากทั้งธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันและบริษัทที่อยู่นอกธุรกิจธนาคาร เงื่อนไขทางเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้ธุรกิจธนาคารเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะธนาคารแบบดั้งเดิมที่มีการดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ดังนั้นการเปิดกว้างเพื่อจัดตั้งธนาคารไร้สาขาจึงเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของธุรกิจธนาคาร ซึ่งเป็นยุคที่จะชนะกันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ในรอบ 100 ปี มีธนาคารในประเทศไทยจัดตั้งขึ้นมาจำนวนมาก และจำนวนไม่น้อยที่ชื่อหายไปจากประวัติศาสตร์จากผลกระทบหลายปัจจัยทั้งปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาการบริหารภายในองค์กร และการควบรวมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของธนาคาร ดังนั้นจึงมีหลายชื่อที่หายไป โดยกรณีล่าสุด คือ ธนาคารทหารไทยธนชาต ที่เกิดจากการควบรวมธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ซึ่งในอดีตธนาคารธนชาตมีประวัติศาสตร์ร่วมกับธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารศรีนคร

ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังไม่เปิดเผยข้อมูลการเข้าสู่ Virtual Bank บางส่วนอาจสุ่มดำเนินการ หรือบางส่วนอาจตามไม่ทันเทคโนโลยี ถึงแม้ ธปท.จะให้ใบอนุญาตระยะแรกเพียง 3 ใบ แต่เมื่อการแข่งขันเปิดกว้างคู่แข่งของธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่แค่ธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน แต่มีคู่แข่งจากหลายธุรกิจเข้ามาชิงตลาดการเงิน เช่น เอไอเอส , ซีพี , เจมาร์ท สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นได้ว่าธนาคารที่เรารู้จักชื่อในวันนี้อาจจะไม่พบชื่อในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า