ปม "ภูมิรัฐศาสตร์" ชี้ชะตาโลก

ปม "ภูมิรัฐศาสตร์"  ชี้ชะตาโลก

ภูมิรัฐศาสตร์ กลายเป็นหนึ่งใน “ความเสี่ยง” สำคัญที่อาจจะแบ่งเศรษฐกิจโลกออกเป็นสองขั้ว นับเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งโลกที่กำลังถดถอยลง

โลกเผชิญความจริงที่โหดร้ายมามากกว่า 3 ปี “ปี 2566” ปีนี้ก็ยังเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญความสุ่มเสี่ยงในทุกมิติ ประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ กลายเป็นหนึ่งใน “ความเสี่ยง” สำคัญที่อาจจะแบ่งเศรษฐกิจโลกออกเป็นสองขั้ว นับเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งโลกกำลังถดถอยลงเรื่อยๆ รวมถึงภาวะโลกร้อน ที่กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้น ความท้าทายต่อประเทศไทย โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ สังคม ต่อจากนี้ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

วานนี้ (23 ม.ค.) “กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา Geopolitics The big challenge for business โลกแบ่งขั้วธุรกิจพลิกเกม มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ และเอกชน โดยเฉพาะเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลากหลายมุมมอง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในมิติต่างๆ เป็นความท้าทายที่โลกและเหล่าบรรดาประเทศต่างๆต้องหาทางรับมือ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วอำนาจโลก กำลังปลุกความเสี่ยงให้โลกมากยิ่งขึ้น ยิ่งในกลุ่ม “ซัพพลายเชน” ซึ่งตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เกิดภาวะขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม อาจเป็นการขวางการเดินต่อของนวัตกรรมความก้าวหน้า และแม้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอ่อนตัวลงแค่ไหนก็ตาม แต่หากมองในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวแค่ 2.7%

ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังมองโลกในแง่ร้าย เชื่อว่าปีนี้ เศรษฐกิจโลกอาจถดถอย สามปีหลังเกิดความเสียหายจากโควิด-19 ระบาด แถมด้วยปมปัญหาของภูมิรัฐศาสตร์ ที่ดูเหมือนจะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ต้องพบเจอกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งหมดยังประมาทไม่ได้ เราจึงต้องไม่ทำอะไรเกินตัว และหาทางสร้างความมั่นคงให้ตัวเองอย่างดีที่สุด เพราะทั้งวิกฤติและโอกาสก็ยังดำรงอยู่คู่กันเสมอ

ดังนั้น ในมุมมองประเทศไทยสิ่งที่ต้องทำ ต้องหาทางรับมือ ปรับตัว ทั้งต้องบาลานซ์รักษาความสัมพันธ์เพิ่มพันธมิตรทางการค้า แสวงหาคู่ค้าใหม่ๆ และสนับสนุนกฎกติกาการค้าโลก รวมไปถึงการรวมกลุ่มกับอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ ใช้หลักการอาเซียนเป็นศูนย์กลางแสวงหาโอกาสภายใต้โลกแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทาน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานแรงงานสิ่งแวดล้อม ดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม