“อีอีซีดี” เร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน รับการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่

“อีอีซีดี” เร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน รับการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งการประกอบธุรกิจและการอยู่อาศัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ได้พัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) บนพื้นที่ 534 ไร่ ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 

ทั้งนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นจุดดึงดูดหลักของผู้ประกอบการด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจากนานาชาติ ที่ต้องการเข้าถึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็ว เป็นโอกาสที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศ นำไปสู่การจ้างงานและสร้างรายได้ และองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายโอนมายังคนไทยมากขึ้นตามเทรนด์โลกด้วยการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

ดังนั้น เพื่อมุ่งส่งเสริมดิจิทัลเทคโนโลยี ประกอบด้วย เทคโนโลยี 5G, IoT, Cloud, AI/Big Data, Blockchain, AR/VR/MR เป็นต้น จึงได้ตั้งเป้าในการผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐเพื่อที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่เศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ผ่านโครงการ EECd เบื้องต้นตั้งเป้าเปิดโครงการฯ พื้นที่นำร่องประมาณ 65 ไร่ ปี 2567 และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2568 

ความคืบหน้าล่าสุด พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พร้อมด้วย คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ได้หารือกับคณะผู้บริหารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเชี่ยวชาญ ร่วมกันพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT, การประปาส่วนภูมิภาค, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.), เทศบาลนครแหลมฉบัง เป็นต้น 

โดยหารือเพื่อรับทราบแผนการดำเนินงานร่วมกัน และจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค EECd ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภครองรับการลงทุน โดยมุ่งเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการร่วมผลิตและแบ่งปันการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสนามทดลองนวัตกรรมดิจิทัล เช่น การทดสอบต้นแบบอุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์ในสภาพแวดล้อมจริงก่อนนำไปใช้งาน

พัฒนา ณ สงขลา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค EECd เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลัก ๆ หารือเรื่องของแผนงานและงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงแบบสำรวจพื้นที่ของกรมโยธาธิการ ซึ่งเบื้องต้นติดปัญหาในเรื่องของพื้นที่โดยเฉพาะความสูงของอาคารในการวางระบบน้ำประปาเพื่อส่งน้ำขึ้นไปบนอาคาร

“จะมีการลงพื้นที่สำรวจร่วมกันอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการเชิญกรมโยธาธิการสำรวจพื้นที่ในตอนแรก หลัก ๆ จะมีปัญหาการวางระบบน้ำประปารวมถึงบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งในส่วนของ NT กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร ดังนั้น งบประมาณจะสรุปอีกครั้งภายหลังสำรวจหน้างานใหม่”

ในส่วนของการดำเนินงานของ NT จะดูในส่วนของการลากสายไฟเบอร์ออฟติกลงใต้ดิน รองรับการให้บริการเทคโนโลยีทั้งหมด ที่จะต้องเป็นในเรื่องของสมาร์ทเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ในนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น กรอบระยะเวลาของการบริการตอนนี้ยังสรุปไม่ได้แน่ชัด ซึ่งจะต้องลงหน้างานกันอีกครั้ง และแก้ปัญหาทีละเรื่อง แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้ทันภายในปลายปี 2567

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับการดำเนินการโครงการ EECd นั้นเกิดขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยระบบนิเวศน์จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ระบบนิเวศน์ทางการศึกษา และระบบนิเวศน์การทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการด้านดิจิทัล แบ่งเป็นเป็น 3 อาคารหลัก คือ

1. อาคาร depa Digital One Stop Service งบก่อสร้าง 20 ล้านบาท อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และเป็นพื้นที่ทำงานสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ บริษัทด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์ประสานงานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สาขาภาคตะวันออก

2. อาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Centre ศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ และไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ รวบรวมกลุ่มดิจิทัลสตาร์ทอัพ เน้นเปิดให้เป็นพื้นที่สมาร์ทสีเขียว งบประมาณก่อสร้าง 110 ล้านบาท บนพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร

3. อาคาร Digital Innovation Centre ศูนย์นวัตกรรม งบประมาณก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ถือเป็นหัวใจของดิจิทัลอินโนเวชั่น

ทั้งนี้ แบ่งออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Target Industry) ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และชิ้นส่วน เช่น Smart Device, อุปกรณ์ IoT และ Artificial Intelligent 2. กลุ่มผู้ผลิต/ให้บริการซอฟต์แวร์ เช่น Autonomous Software และ Intelligent Platform 3. กลุ่มผู้ให้บริการข้อมูลดิจิทัล มุ่งเน้นเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ 4. กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสาร/บริการสื่อสาร ครอบคลุมทั้ง โทรคมนาคม แพร่ภาพกระจายเสียง และดาวเทียม และ 5. กลุ่มผู้ให้บริการดิจิทัล เช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลรูปแบบใหม่ และวิสาหกิจเทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Tech Startup)

ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จากต่างประเทศ เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลระดับอาเซียน หรือการลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าเขตส่งเสริมจะสามารถเพิ่มกำลังคนดิจิทัลได้ 52,000 คนในปีแรก และเพิ่มขึ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี