‘3 ซีอีโอ NEW GEN’ ขับเคลื่อนธุรกิจ ชู ‘แนวคิดใหม่’ รับโลกเปลี่ยน

‘3 ซีอีโอ NEW GEN’ ขับเคลื่อนธุรกิจ ชู ‘แนวคิดใหม่’ รับโลกเปลี่ยน

เปิด 3 แนวคิด '3 ซีอีโอ NEW GEN' เลือดใหม่ ดาวรุ่งพุ่งแรง จัดทัพเคลื่อนธุรกิจ ด้วยแนวคิดนอกกรอบ ท่ามกลางบริบทโลกเปลี่ยน

‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์’ปลุกธุรกิจ สู่‘เทคคอมพานี’ระดับโลก

บนเส้นทางสายเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะประสบความสำเร็จหรือยืนระยะได้นาน ทว่าหากมองเกมได้ขาดและมีความมุ่งมั่นมากพอ ถนนสายนี้ยังคงมี “โอกาส” รออยู่อีกมหาศาล...

หนึ่งในบริษัทที่น่าจับตาคือ “เอมิตี้(Amity)” โซเชียล คลาวด์ คอมพานี สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่ปักธงสร้างการเติบโตในตลาดระดับโกลบอลก่อตั้งและบริหารงานโดย “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ซีอีโอเจนใหม่ที่ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา

 

“กรวัฒน์” คือ ลูกไม้ใต้ต้นวัย 26 ปี ของ ศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี กรุ๊ป และหลานปู่ ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีของไทย

“กรวัฒน์” ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ โอกาสที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นทั้งในที่ที่เราคาดหวัง และในที่ที่เราคาดไม่ถึง แนวคิดสำคัญคือ การไม่ทำให้วิกฤติเสียเปล่า และทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งด้วยการปฏิรูปตัวเองและการพยายามเสาะหาโอกาสใหม่ ๆ

 

เขามักพูดอยู่เสมอว่าการสร้างทีมระดับโลก (เวิลด์คลาส ทีม) คือ กุญแจสำคัญที่จะหล่อหลอมให้บริษัทเติบโตไปพร้อมกับ “ทีม” ที่แข็งแกร่ง ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่า"ทุกคนในทีมต้องเก่งและเติบโตได้ถ้าไม่มีผม นี่คือบททดสอบที่แท้จริงของการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ทีมต้องไม่เพียงแต่เก่งที่สุดในสิ่งที่พวกเขาทำเท่านั้น พวกเขายังต้องปรับตัว มีความยืดหยุ่น และพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและมีวิวัฒนาการให้มากที่สุด”

ขณะที่ เป้าหมายใหญ่ของธุรกิจคือ การรักษาการเติบโตให้ได้ 100% โดยไม่ต้องใช้เงินสดจำนวนมหาศาล นั่นคือ การรักษาอัตราการเติบโตที่จำเป็น เพื่อการก้าวขึ้นสู่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก

ธุรกิจต้องดีและเก่งสู้ได้ทั้งภูมิภาค-โลก

"ผมเชื่อว่า เราต้องโฟกัสการเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำ ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก การจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง บริษัทต้องมองธุรกิจแบบขยายสเกลไปต่างประเทศให้ได้ บางสิ่งเราจะไม่สามารถทำได้ถ้าเราไม่เก่งที่สุดทั้งในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ดังนั้นทีมต้องเก่งมาก ถ้าเรามองแค่ระดับประเทศมันเล็กเกินไป ต้องวางตำแหน่งเป็นธุรกิจระดับภูมิภาค หรือ โกลบอล พยายามวางโฟกัสให้ชัดเจน และก้าวขึ้นไปเป็นที่หนึ่งในธุรกิจนั้นๆ ให้ได้”

เมื่อถามถึงธุรกิจครอบครัว อาณาจักรซีพี มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจของเขาหรือไม่ “กรวัฒน์” ตอบสั้นๆ ว่า “ลักษณะของธุรกิจของ Amity นั้นแตกต่างจากธุรกิจครอบครัวมากดังนั้นอิทธิพลและบทเรียนอาจไม่ตรงเท่า”

หากด้วยความเป็นลูกชายคนโตของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” และหลานปู่เจ้าสัว “ธนินทร์” กรวัฒน์ ยอมรับว่า ได้เรียนรู้บทเรียนมากมายแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้อย่างมาก คือ ความเพียรพยายามและการทำความดี

“ความพากเพียร เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจว่า ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และความยากลำบากที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีช่วงเวลามากมายที่เราอยากจะยอมแพ้ แต่เราไม่สามารถทำได้ทุกคนเข้าใจความเพียรพยายาม แต่การเข้าใจอย่างแท้จริง และการฝึกฝนอย่างแท้จริงนั้นแตกต่างออกไปการทำความดีเป็นเรื่องของการเข้าใจว่า เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เราต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างดีเช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติต่อเพื่อนเรา ต้องตอบแทนสังคมในจุดที่เราทำได้ และการจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เราต้องมีจริยธรรมและความดี”

เปิดวิสัยทัศน์ “ธุรกิจ”

ขณะที่ วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ “กรวัฒน์” มองว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ เป็นโกลบอลเกม การทำตลาดจึงต้องมองไปที่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกไม่เช่นนั้นคงไม่ง่าย

“หากจำกัดตัวเองอยู่เพียงภายในประเทศขนาดตลาดจะเล็กมาก ขณะเดียวกันการแข่งขันมีความรุนแรงต้องต่อสู้กับผู้เล่นระดับบิ๊กจากต่างประเทศ”

สำหรับ Amity เพิ่มทุนไปแล้ว 30 ล้านดอลลาร์ หลังจากนี้ยังคงมีแผนที่จะระดมทุนเพิ่มเพื่อแข่งกับซิลิคอนแวลลีย์ และวางเป้าหมายว่าอนาคตจะเข้าจดทะเบียนในแนสแด็กให้ได้

บริษัท “Amity” ก่อนหน้านี้ ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในยุโรป โดยติดอยู่ใน 150 อันดับแรกจากทั้งหมด 1,000 อันดับในรายการ FT 1000 ของไฟแนนเชียล ไทมส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการเติบโตสู่ระดับโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

“ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” ผู้สร้าง Tech Entrepreneur ของไทย

"ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์" หนึ่งในผู้บุกเบิกสาขาอาชีพ “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” หรือ “Data Strategist” ในประเทศไทย รวมทั้งการเป็น นักเศรษฐศาสตร์บิ๊กดาต้า และ Tech Entrepreneur แถวหน้าของเมืองไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท Siametrics Consulting และ ViaLink และกรรมการผู้จัดการของสถาบันอนาคตไทยศึกษา​

ในยุคที่การขับเคลื่อนข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการสร้างความสำเร็จของธุรกิจทั่วโลก โดยได้ก่อตั้ง  (founder) บริษัท Siametrics Consulting และ ViaLink ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ของทั้ง 2 บริษัท โดยถือว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จและมีผลงานจำนวนมาก

บริษัท Siametrics Consulting เป็นบริษัทที่รวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และ Web 3.0 ผู้มีประวัติการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกและประสบการณ์ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ที่ล้วนมีเป้าหมายคือการช่วยให้องค์กรวางแผนและใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านบริการ Data Consulting ที่ช่วยให้คำปรึกษาวางแผนกลยุทธ์ข้อมูล หรือผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ AI ที่สามารถพลิกโฉมการทำงานขององค์กรได้ภายในไม่กี่วัน โดยมีความเชื่อว่าประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและนวัตกรรมใหม่ที่มีส่วนช่วยในการผลักดัน จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนบริษัท ViaLink มีธุรกิจบน Web 2.0 ซึ่งทำในเรื่องของการปฏิวัติการทำงานของซัพพายเชนในประเทศไทยยกระดับการขนส่ง และโลจิสติก์ให้มีมาตรฐาน สามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้โดยใช้ Data

ที่ผ่านมาบริษัทได้มีความร่วมมือในโครงการ พัฒนาความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน (Operational Excellence) ด้วยระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และการทำธุรกิจของไปรษณีย์ไทย เพื่อยกระดับกระบวนการขนส่งตลอดเส้นทางไปรษณีย์ และการให้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย เช่น การนำระบบ Geo Coding Engine ในการพัฒนาเส้นทางขนส่งและการนำจ่ายสิ่งของ พร้อมวิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาจุดให้บริการไปรษณีย์

รวมถึงการนำเทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มศักยภาพระบบติดตามสถานะการขนส่งแบบเรียลไทม์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนคลังสินค้าและการจัดการขนส่ง แบบครบวงจร (Crowd Shipping) เพื่อเชื่อมต่อผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มธุรกิจด้วย

ในฐานะนักเขียนและนักวิชาการ "ณภัทร" มีงานเขียนสื่อสารธราณะออกมาอยู่เสมอ โดยล่าสุดได้เขียนหนังสือเรื่อง ‘อาทาเดีย’ ซึ่งเป็นการพูดถึงเทคโนโลยี Web-3.0-โลก Big data-และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้อ่านจำนวนมาก

"Web 3.0 เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ตอนนี้คิดว่าถึงเวลาที่ธุรกิจนี้จะไปได้ เราจึงเริ่มทำฐานข้อมูลในโลกดิจิทัลสำหรับคนทั้งโลก แต่ส่วนนี้ทำในเรื่องดาต้า และทำเครดิต สกอร์ริ่งให้คนทั่วโลก โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารหรือระบบอื่น การทำข้อมูลด้านดาต้าและ NFT และดิจิทัลโทเคนที่ทำอะไรได้มากกว่าการเก็งกำไร และในอนาคตไม่ว่าอะไรในโซเชียลมีเดียและเกมก็อาจพัฒนาจากจุดนี้เช่นกัน"

“ณภัทร” แม้โดยชื่อของเขาเองอาจยังไม่ปรากฎในแวดวงของสื่อและสาธารณะมากนัก แต่หากบอกว่าเขาคือลูกชายคนโต หัวแก้วหัวแหวนของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยุค คสช.ต่อเนื่องมาถึงหลังการเลือกตั้งในสมัย ครม.ประยุทธ์ 2 หลายคนก็จะอาจจะไม่แปลกใจ เพราะทั้งบุคคลิก ลักษณะ และคมความคิดมีส่วนคล้ายกับ "สมคิด" อยู่ไม่น้อย

สำหรับประวัติการศึกษาและการทำงานของณภัทรเขาจบการศึกษาปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และจอนส์ ฮอปกินส์ และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าเคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่Harvard Kennedy School และที่ธนาคารโลก

“รังสรรค์ พรมประสิทธิ์”  ดัน “QueQ” สู่ยูนิคอร์น

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นธุรกิจเติบโตในยุคการระบาดของ โควิด-19 โดยเฉพาะ "สตาร์ทอัพ" ที่นักลงทุนต่างชะลอการลงทุนใน Early Stage แม้แต่สตาร์ทอัพที่อยู่มานานยังต้องปรับตัวและไม่หยุดนิ่ง “คิวคิว” (QueQ) แอปพลิเคชั่นลดปัญหาการรอคิว ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้าง Impact ให้กับสังคมชัดเจน นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2558 จนปัจจุบัน

“โจ้ - รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวโปรแกรมเมอร์หล่อหลอมให้ กลายเป็นคนที่สนใจด้านนี้มาตั้งแต่อายุ 12 ปี เส้นทางสายโปรแกรมเมอร์เริ่มต้นจากการเล่มเกมที่มาพร้อมคู่มือการเขียนโปรแกรมง่ายๆ สำหรับเด็ก และความฝันที่มักจะบอกทุกคนเสมอ คือ โตขึ้นอยากเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์

จุดเริ่มต้นของ แอปพลิเคชั่น คิวคิว (QueQ) เริ่มขึ้นเมื่อราว 7 ปีที่ที่ผ่านมา จากการบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ขยับมาสู่เส้นทางสตาร์ทอัพ ซึ่งได้ไอเดียจากการเล็งเห็น Pain Point ของการรอคิวธนาคาร “คิวคิว” จึงเกิดขึ้น โดยจับตลาดแรก คือ ร้านอาหาร ขยายสู่ธนาคาร โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารทั้งในมาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น

บทบาท “คิวคิว” เด่นชัดขึ้นในสถานการณ์ “โควิด-19” ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ที่ศูนย์ตรวจโควิด-19 Rapid Test ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้จองทางแอปฯ ตามเวลา 50 คนต่อวัน โดยใช้เก้าอี้เพียง 5 ตัว หลังจากนั้น เริ่มนำระบบคิวคิวไปใช้ในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ลดการกระจุกตัวเนื่องจากคนไทยที่ต้องทำ Fit to Fly Certificate ขยายสู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และช่วงพีคของโควิด-19 ระลอกเดลต้า ที่ช่วยทลายการรอคิวตรวจโควิด-19 ที่ล้นทะลัก รวมถึงคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 หลายจุด

ในวันนี้ โครงการ “คืน 30 ล้านชั่วโมง” ของคิวคิว ได้ให้บริการคิวฉีดวัคซีนและตรวจโควิด-19 ไปแล้วทั้งหมด 1.5 ล้านคิว 156 จุดบริการคืนเวลาไปไม่ต่ำกว่า 45 ล้านชั่วโมง ตลอดระยะเวลาโครงการ 406 วัน เรียกว่าเกินเป้าหมาย อีกทั้ง ยังขยายบริการไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งบริการสาธารณะ อีเวนท์ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ ศูนย์บริการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เป็นต้น

“CEO & Co-Founder คิวคิว” เผยว่า ในวันนี้ เรียกได้ว่า คิวคิว อยู่จังหวะที่กำลังย่อตัวและกระโดด แต่หากถามว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ตอบว่า ยังไปได้อีกเยอะ และอยู่ใน Growth Stage สถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งพอสมควรที่ทำให้การเติบโตของคิวคิวเร็วขึ้น เป้าหมายของคิวคิวระยะสั้น คือ การทำงานกับภาครัฐเยอะขึ้นเพื่อสร้าง Impact ให้กว้างขึ้น ขณะที่เป้าหมายใหญ่แน่นอนว่า คือ การก้าวสู่ยูนิคอร์นของไทยให้ได้