"ธุรกิจผ่อนมือถือ" ระวัง! ซื้อแบบผ่อนไปใช้ไป อาจเจอมิจฉาชีพไม่รู้ตัว

"ธุรกิจผ่อนมือถือ" ระวัง! ซื้อแบบผ่อนไปใช้ไป อาจเจอมิจฉาชีพไม่รู้ตัว

รู้จัก "ธุรกิจผ่อนมือถือ" แบบผ่อนจ่ายก่อน-รับเครื่องทีหลัง หรือแบบผ่อนไปใช้ไป บางเคสพบว่าเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงโดยไม่มีสินค้าส่งให้จริง ผู้บริโภคต้องดึงสติ! เช็กให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อผ่อนมือถือ

จริงๆ แล้ว “ธุรกิจผ่อนมือถือ” แบรนด์ดังต่างๆ ในท้องตลาด มีให้เห็นในบ้านเรามานานหลายปีแล้ว โดยเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ไม่มีเงินก้อนสำหรับซื้อสมาร์ทโฟนราคาแพงๆ ด้วยการจ่ายในครั้งเดียว มักจะพบร้านค้าเหล่านี้ในสื่อโซเชียลต่างๆ เช่น ไอจี เฟซบุ๊กฯลฯ โดยทางร้านจะให้ลูกค้าผ่อนจ่ายราคาถูกมาก (หลักร้อยบาทหรือหลักพันต้นๆ)

โดยจะมีการกำหนดเพดานว่าต้องผ่อนจ่ายให้ได้ 30%, 60%, 80% ของราคาเครื่องก่อน แล้วจะให้ตัวเครื่องไปใช้ได้เลย แล้วค่อยผ่อนจ่ายต่อจนครบ ซึ่งส่วนใหญ่มักตั้งราคาเครื่องแพงกว่าราคาจริงของศูนย์สมาร์ทโฟนแบรนด์นั้นๆ

แม้ร้านค้าเหล่านี้จะตั้งราคามือถือแพงกว่าราคาศูนย์ แต่ผู้บริโภคบางกลุ่มก็ยอมจ่าย (ผู้ที่มีรายได้น้อย, กลุ่มนักเรียน นักศึกษา) เนื่องจากสามารถผ่อนได้ในราคาถูก และไม่มีเงินก้อนที่จะไปซื้อสมาร์ทโฟนในราคาปกติตามศูนย์ต่างๆ จึงทำให้ธุรกิจประเภทนี้ยังคงมีอยู่ และทำเงินได้ต่อเนื่อง

"ธุรกิจผ่อนมือถือ" ระวัง! ซื้อแบบผ่อนไปใช้ไป อาจเจอมิจฉาชีพไม่รู้ตัว

โดย “ธุรกิจผ่อนมือถือ” ในลักษณะนี้มักจะมีข้อความเชิญชวนเป็นต้นว่า ผ่อนสบายราคาถูก ไม่ต้องใช้บัตรเครดิตก็ผ่อนได้ หรือใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็ผ่อนได้ เป็นต้น ซึ่งมีหลายกรณีพบว่าเป็น "มิจฉาชีพ" หลอกลวงเงินจากเหยื่อโดยไม่มีสินค้าส่งให้จริง ทำให้มีเหยื่อออกมาแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวมากมายในโลกโซเชียล

สำหรับร้านค้าที่ทำธุรกิจนี้อย่างสุจริต ก็ต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ค่อนข้างดี เนื่องจากสามารถขายสมาร์ทโฟนได้ราคาสูงกว่าราคาเครื่องจากศูนย์ แต่ทั้งนี้ทางร้านต้องมีการจดทะเบียนร้านค้า/จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งมีเอกสารเซ็นสัญญาซื้อขายกับลูกค้าให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าจริง

ส่วนในมุมของผู้บริโภคที่อยากซื้อ "สมาร์ทโฟน" แบรนด์ดังแบบ "ผ่อนจ่ายราคาถูก" ก็ต้องระมัดระวังร้านค้าที่ไม่มีหน้าร้าน และมีการโพสต์ขายมือถือแบบผ่อนไปใช้ไปตามสื่อโซเชียล เพราะบางเจ้าอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาก็ได้ ซึ่งปัจจุบันมีเคสลักษณะนี้ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

"ธุรกิจผ่อนมือถือ" ระวัง! ซื้อแบบผ่อนไปใช้ไป อาจเจอมิจฉาชีพไม่รู้ตัว

หากไม่อยากโดนหลอกผู้บริโภคควรหาข้อมูลร้านค้านั้นๆ พร้อมเช็กความน่าเชื่อถือ ก่อนตัดสินใจผ่อนซื้อมือถือรุ่นที่ต้องการ รวมถึงมีคำแนะนำจาก "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ออกมาเตือนประชาชนไม่ให้หลงกลจนตกเป็นเหยื่อ และสูญเสียเงินโดยไม่รู้ตัว ดังนี้

1. ต้องทำสัญญาเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะได้รับสินค้าจริง

การผ่อนสินค้าเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปสามารถทำได้ โดยทั่วไปจะเป็นการได้สินค้ามาใช้ก่อนถึงค่อยผ่อนชำระ แต่ถ้าในกรณีที่ทางร้านให้ผ่อนสินค้าโดยยังไม่ได้รับสินค้า ก็ควรมีการทำสัญญาเพื่อเป็นหลักฐาน และหลักประกันว่าจะได้รับสินค้า ถ้าไม่ได้รับสินค้าตามสัญญาก็สามารถยกเลิกสัญญา และขอเงินคืนได้

2. หากไม่มีสัญญาซื้อขายให้ระวังไว้ก่อน!

หากซื้อผ่อนมือถือในลักษณะผ่อนจ่ายไปก่อนโดยยังไม่ได้รับสินค้า และไม่มีการทำสัญญาเพื่อเป็นหลักฐาน ให้ระวังไว้ก่อนว่าร้านค้าดังกล่าวอาจเป็นมิจฉาชีพ ซึ่งเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ดังนั้นผู้บริโภคต้องระมัดระวังให้ดี

3. ตรวจสอบชื่อร้านค้าผ่าน blacklistseller.com

การซื้อผ่อนสินค้าในกรณีแบบนี้ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ ทั้งชื่อร้านค้า บัญชีผู้รับโอนเงิน เพื่อดูว่าร้านค้ามีประวัติการขายสินค้าอย่างไร อาจตรวจสอบเบื้องต้นจากการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เช่น เสิร์ชชื่อร้านบนกูเกิล หรือทางเว็บไซต์ blacklistseller.com เพื่อตรวจสอบว่ามีประวัติการโกงหรือไม่

"ธุรกิจผ่อนมือถือ" ระวัง! ซื้อแบบผ่อนไปใช้ไป อาจเจอมิจฉาชีพไม่รู้ตัว

4. ร้านค้าต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ร้านค้าที่ขายสินค้าบนออนไลน์นั้นจำเป็นต้อง “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ทุกร้าน ผู้บริโภคสามารถสอบถามกับทางร้านค้า หรือ นำชื่อของร้านค้าไปตรวจสอบได้ที่ https://www.trustmarkthai.com/th/ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคจะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

5. หากโดนโกงต้องรวบรวมหลักฐานแจ้งความให้เร็วที่สุด

กรณีที่ผู้บริโภคโดนโกง (จ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า) สามารถแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ขายในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยนำหลักฐานการสนทนา หรือหลักฐานการโอนเงิน หรือหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงขอให้ออกหนังสืออายัดบัญชีธนาคารของเจ้าของบัญชีที่ผู้ซื้อได้โอนเงินไป หลังจากนั้นจึงนำหนังสือไปขออายัดบัญชีที่ธนาคารนั้นๆ

ทั้งนี้ สำหรับร้านค้าเองต้องรู้ว่าในการขายแบบผ่อนสินค้าบน Instagram เป็นการขายแบบออนไลน์รูปแบบหนึ่ง จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2553 หากร้านค้าออนไลน์ที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องหลังจากจดทะเบียนพาณิชย์

รวมถึงต้องกรอกแบบฟอร์ม พร้อมยื่นแบบฟอร์ม เพื่อขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ เครื่องหมาย DBD Registered ที่เจ้าของร้านค้าสามารถนำมาขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

-------------------------------------------

อ้างอิง : Consumerthai.org

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์