ลดค่าครองชีพ ของขวัญที่ประชาชนต้องการ

ลดค่าครองชีพ ของขวัญที่ประชาชนต้องการ

ประชาชนต้องการการลดค่าครองชีพเป็นของขวัญปีใหม่มากที่สุด ซึ่งสิ่งสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการได้คือ การกำกับดูแลราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกตลาด และช่วยเหลือจำกัดเฉพาะกลุ่มให้มากที่สุด

ในช่วงปลายปีของทุกปี รัฐบาลจะสั่งการให้ทุกกระทรวงจัดเตรียมมาตรการของขวัญให้กับประชาชน โดยกระทรวงที่มีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจะได้เปรียบในการนำมาตรการที่มีอยู่แล้วมาปัดฝุ่น หรือมาดำเนินการต่อ แต่บางกระทรวงที่ไม่มีมาตรการหรือแผนงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ทำให้มีการเค้นงานในกระทรวงเพื่อมาจัดทำเป็นของขวัญปีใหม่ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

การประชุม ครม.วันที่ 12 ธ.ค.2565 รับทราบผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงความต้องการประชาชนปี 2566 โดยถามความเห็นผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 6,970 ราย วันที่ 17-31 ต.ค.2565 พบว่า มาตรการหรือโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ได้แก่ 1.โครงการคนละครึ่ง (75.8%) 2.โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (69.9%) 3.มาตรการลดค่าไฟฟ้า (59.2%) 4.โครงการเราชนะ (25.1%) และ 5.โครงการ ม.33 เรารักกัน (14.8%)

ส่วนผลสำรวจเกี่ยวกับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2566 มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค (91.1%) 2.การลดค่าไฟฟ้าหรือค่าน้ำประปา (67%) 3.แก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น ราคาพืชตกต่ำ จัดหาตลาดรองรับผลผลิตและราคาปุ๋ยแพง (30%) 4.แก้ปัญหาการว่างงาน (23.4%) และ 5.การเพิ่มมาตรการหรือสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือเยียวยา เช่น โครงการคนละครึ่ง เพิ่มเงินผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราหรือผู้พิการ

จากผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนต้องการการลดค่าครองชีพเป็นของขวัญปีใหม่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ซึ่งการดำเนินการหลายส่วนในช่วงที่ผ่านมาต้องใช้งบประมาณ เช่น การดูแลค่าไฟฟ้า เพราะมีปัญหาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น และการจัดหาเชื้อเพลิงเข้าระบบไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ถึงแม้การแก้ปัญหาค่าครองชีพจะเป็นจำเป็น แต่วิธีการที่รัฐบาลเลือกนำมาใช้จะต้องไม่สร้างการบิดเบือนกลไกตลาดหรือสร้างภาระต่องบประมาณเกินความจำเป็น สิ่งสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการได้คือ การกำกับดูแลราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่อยู่ที่การกำกับดูแลสินค้าแต่ละกลุ่มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่การช่วยเหลือจำกัดเฉพาะกลุ่มให้มากที่สุด เพราะงบประมาณมีจำกัดและการปรับโครงสร้างภาษีได้รับแรงต่อต้านมาตลอด