EEC หวั่นงบบูรณาการปี 67 โดนหั่น เซ่นเศรษฐกิจชะลอตัว เร่งดึงเอกชนร่วมลงทุน

EEC หวั่นงบบูรณาการปี 67 โดนหั่น เซ่นเศรษฐกิจชะลอตัว เร่งดึงเอกชนร่วมลงทุน

สกพอ. ถกทิศทางกำหนดแผนงานบูรณาการ ปีงบประมาณ 2567 ย้ำใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เร่งเดินหน้าดูดลงทุนกลุ่ม BCG ไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ควบคู่การพัฒนาพื้นที่และยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างการจ้างงาน ดันเศรษฐกิจอีอีซีขยายตัว 6.8% ในปี 2567

นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.2% ขณะที่ในปีถัดไปเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.6% ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 โครงการหลักภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและมีความพร้อมในอีก 5 ปีข้างหน้า เชื่อว่าอีอีซีจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจประเทศในภาพรวมขยายตัวได้ 5% และยกระดับรายได้ประชากรต่อหัว (GDP per Capita) เพิ่มขึ้นจาก 7,000 ดอลลาร์ต่อปี เพิ่มขึ้นแตะ 10,000 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิดและมรสุมวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้คาดว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในอีก 5 ปีข้างหน้าจะลดลง เนื่องจากการใช้งบประมาณไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับการเดินหน้าโครงการอีอีซี คือการดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อให้มาร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา และพึ่งพางบประมาณแผ่นดินให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ การจัดทำแผนบูรณาการอีอีซี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2561 – 2566 ได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วม 15 กระทรวง รวมกว่า 44 หน่วยงาน ปัจจุบันได้รับอนุมัติงบประมาณ (จนถึงปีงบประมาณ 2568) รวม 94,514 ล้านบาท และสามารถดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนรวม 1,182,538 ล้านบาท ซึ่งทำให้สามารถสร้างมูลค่าลงทุนจริงได้สูงกว่า 747,509 ล้านบาท

สำหรับแนวทางขับเคลื่อนแผนบูรณาการปี 2567 อีอีซี ได้กำหนด 5 ภารกิจหลักเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วน ได้แก่
 

1. สานต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค และดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบคมนาคมแบบไร้รอยต่อ ให้ทันสมัย คู่กับวางโครงข่ายดิจิทัล 5G เพื่อจูงใจภาคเอกชน

2. พัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม สร้างทักษะบุคลากรให้เพิ่มขึ้น สู่การปฏิบัติงานจริง โดยให้ความสำคัญการพัฒนาทักษะบุคลากรตามหลัก “Demand Driven” ให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปขยายผลเชิงพาณิชย์

3. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ให้ทันสมัย มีมาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และเสริมสร้างสุขภาพของประชาชน รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย

EEC หวั่นงบบูรณาการปี 67 โดนหั่น เซ่นเศรษฐกิจชะลอตัว เร่งดึงเอกชนร่วมลงทุน 4. พัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ให้เกิดการพัฒนาทัดเทียมนานาชาติ พัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ยกระดับสินค้าโอทอปพื้นที่ สร้างรายได้ให้ชุมชนต่อเนื่อง

5. มุ่งให้เกิดการลงทุนด้านเศรษฐกิจ BCG ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ และสร้างการรับรู้สู่ประชาชน โดยมุ่งอำนวยความสะดวกการลงทุน ผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล การอพทย์ โลจิสติกส์ และเกษตรสมัยใหม่ สอดคล้องกับผลการประชุมผู้นำเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ได้ประกาศร่วมกัน

โดยกำหนดเป้าหมายหลักของแผนงานบูรณาการอีอีซี จะสร้างมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น 40,000 คน และเป็นกลไกสนับสนุนให้อัตราขยายตัวของ GDP ในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ในปี 2567 เป็นต้นไป