'มาสเตอร์แพลน' คืบ 80% ปี 66 ลุยอู่ตะเภา-เมืองการบิน

'มาสเตอร์แพลน' คืบ 80%  ปี 66 ลุยอู่ตะเภา-เมืองการบิน

UTA มั่นใจปีหน้าลุยตอกเสาเข็มก่อสร้างท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เผยมาสเตอร์แพลนคืบหน้ากว่า 80% ดันระยะแรกเพิ่มขีดความสามารถรับผู้โดยสารสูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี ด้านกองทัพเรือเดินหน้าสร้างรันเวย์ 2

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำลังมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 2.9 แสนล้านบาท แต่เป็นโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงินสูงกว่า 3 แสนล้านบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 1.5 หมื่นตำแหน่งต่อปี นอกจากนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะ บุคลากรด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง เพิ่มเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยในฐานะตัวแทนบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA โดยระบุว่า ความคืบหน้าของโครงการฯ UTA อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนงานกำหนดไว้ โดยเฉพาะการออกแบบโครงการงานก่อสร้างต่างๆ

ส่วนการเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างนั้น ขณะนี้ยังต้องรอหนังสืออนุมัติเข้าพื้นที่ (NTP) จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยเอกชนมีความพร้อมในการเข้าพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างแล้ว เบื้องต้นคาดว่าน่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่และเริ่มตอกเสาเข็มโครงการได้ภายในปี 2566 เนื่องจากปัจจุบันทราบว่าทางภาครัฐยังอยู่ระหว่างดำเนินการส่วนของทางวิ่งและทางขับที่ 2

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน UTA อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) การก่อสร้างท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งพบว่ามีความคืบหน้าไปกว่า 70-80% และอยู่ระหว่างการลงรายละเอียดของโครงการในส่วนต่างๆ อาทิ ศูนย์การประชุม ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย ขณะที่ตัวเมืองการบิน การออกแบบขั้นต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเชื่อว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้ตามแผนที่กำหนดไว้

\'มาสเตอร์แพลน\' คืบ 80%  ปี 66 ลุยอู่ตะเภา-เมืองการบิน

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า ปัจจุบันโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ในขั้นตอนที่ทางภาคเอกชนคู่สัญญาเริ่มงานออกแบบรายละเอียดโครงการ รวมทั้งขณะนี้ยังมีการหารือร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับประเด็นที่โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) จะต้องมาเชื่อมต่อภายในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานอู่ตะเภาด้วย

“โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นโครงการที่ไม่ได้มีปัญหาติดขัดในการส่งมอบพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือที่สามารถส่งมอบได้เลย แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการทำมาสเตอร์แพลน และหารือร่วมกันในรายละเอียดโครงการ รวมไปถึงข้อสรุปของการพัฒนาส่วนของภาครัฐอย่างรันเวย์ 2 ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี”

สำหรับก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้กองทัพเรือดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับการขึ้น – ลง และขับเคลื่อนของอากาศยานได้มากยิ่งขึ้นโดยเป็นไปตามกรอบวงเงินจำนวน 17,768 ล้านบาท ที่ ครม.มีมติไปแล้วเมื่อ 30 ต.ค. 2561 ให้กับกองทัพเรือใช้ในการดำเนินโครงการสนามบินอู่ตะเภา

ทั้งนี้ กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณผูกพันข้ามปี 2562 – 2567 ในกรอบวงเงิน 1,463 ล้านบาทไปแล้ว ขณะที่แหล่งเงินเพื่อการดำเนินงานการก่อสร้างโครงการส่วนที่เหลือ ครม.ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในกรอบวงเงิน 16,210 ล้านบาท ให้กับกองทัพเรือ

ซึ่งกองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสมทบในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณ เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังตกลงกับแหล่งเงินกู้ ซึ่งวงเงินโครงการดังกล่าวบรรจุอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 และ 2566

โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสารและ การขนส่งสินค้า มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งสามารถให้ อากาศยานขึ้นลงทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน และสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอด อากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด

ในส่วนของอาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะ จะมีขนาดพื้นที่ กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ภายในอาคารมีการติดตั้งระบบอำนวย ความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัย เช่น ระบบการ Check-in อัตโนมัติ (Smart Airport) ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automate People Mover, APM) และอาคารหอบังคับการบิน โดยสามารถให้บริการการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก UTA ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ 

ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน

ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตรและ 

ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร

ไม่เพียงพื้นที่อาคารผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่ศักยภาพและความทันสมัยของการใช้งานจะส่งเสริมให้เป้าหมายสนามบินแห่งภูมิภาคประสบความสำเร็จตามที่ประเทศไทยตั้งใจไว้