ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลง 1.32 ดอลล์

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลง 1.32 ดอลล์

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปิดวันศุกร์(25พ.ย.) ปรับตัวร่วงลง 1.32 ดอลลาร์ หลังจากที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 และสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ปรับตัวร่วงลง 1.32  ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่  76.62 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 1.61% ปิดที่ราคา 83.97 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) รวมทั้งสหรัฐ และเยอรมนี ซึ่งเป็นประธานของกลุ่ม G7 ได้จัดการประชุมวานนี้เพื่อหารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว

G7 เสนอให้มีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียในกรอบ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของอียูเห็นพ้องกับข้อเสนอดังกล่าว แต่โปแลนด์ต้องการให้มีการกำหนดเพดานราคาที่ระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยมองว่ากรอบ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรลเอื้อประโยชน์ต่อรัสเซียมากเกินไป เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตเพียง 20 ดอลลาร์/บาร์เรล และให้มีการนำประเด็นการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียพ่วงเข้ากับมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่

ส่วนไซปรัส กรีซ และมอลตามองว่ากรอบ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรลอยู่ในระดับต่ำเกินไป และต้องการได้รับเงินชดเชยสำหรับภาคธุรกิจ หากได้รับผลกระทบจากการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย รวมทั้งขอให้มีระยะเวลาสำหรับการปรับตัวรองรับมาตรการดังกล่าว

G7 รวมทั้งอียูและออสเตรเลียมีกำหนดบังคับใช้เพดานราคาน้ำมันรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค. โดยจะมีผลบังคับใช้ต่อน้ำมันรัสเซียที่มีการขนส่งผ่านทางเรือบรรทุกน้ำมัน แต่ไม่รวมน้ำมันที่มีการขนส่งผ่านท่อส่งน้ำมัน

การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวถือเป็นมาตรการลงโทษต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้จะทำให้บริษัทเดินเรือ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยต่อ ไม่สามารถให้บริการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคาร์โกน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าเพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้

นักวิเคราะห์คาดว่าการซื้อขายจะยังคงเบาบางก่อนถึงวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่ง G7 และพันธมิตรมีกำหนดบังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 ธ.ค. หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ซึ่งระบุว่า โอเปกพลัสกำลังหารือกันเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรล/วันในการประชุมดังกล่าว