บทสรุปเงินกู้สู้โควิด1.5 ล้านล้าน สภาพัฒน์ ชี้ช่วยฟื้น ศก. – สร้างบิ๊กดาต้า

บทสรุปเงินกู้สู้โควิด1.5 ล้านล้าน สภาพัฒน์ ชี้ช่วยฟื้น ศก. – สร้างบิ๊กดาต้า

ช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับโควิด-19 ระหว่างปี 2563 – 2565 กระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รัฐบาลได้มีการออกพระราชกำหนดในการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงิน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท

ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้ พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับได้ เสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการ ตาม พ.ร.ก. ณ เดือนตุลาคม 2565 สรุปได้ 4 ข้อ ดังนี้

  1. ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม การดำเนินการกู้เงินข้างต้นส่งผลให้เกิดการรักษากำลังซื้อของประเทศ กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศในทุกสาขาโดยเศรษฐกิจไทยในปี 2564 กลับมาขยายตัวที่ 1.5% ต่อเนื่องไปจนถึงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่มีการขยายตัว 2.3% และ 2.5% ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองตามลำดับ

นอกจากนี้ การดำเนินโครงการต่าง ๆ ยังส่งผลให้หน่วยงานรับผิดชอบมีข้อมูลประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ทันสมัยและนำไปสู่การพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ในอนาคต ทำให้ภาครัฐสามารถออกแบบมาตรการ/นโยบายในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มเป้าหมายในลักษณะมุ่งเป้าได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์

 

2.การบริหารกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 แผนงาน/โครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 แบ่งเป็น 3 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่ 2 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน เช่น การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และกลุ่มที่ 3 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน

โดยผลการบริหารกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 570,000 ล้านบาท ลดลงเป็นประมาน 351,514 ล้านบาท หรือร้อยละ 62 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในช่วงของการจัดทำร่างพระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในขณะที่มีการดำเนินตามแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก 30,000 ล้านบาท เป็น 220,096 ล้านบาท และการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ (กรอบวงเงินรวม 855,000ล้านบาท ดำเนินการรวมประมาณ 864,492 ล้านบาท)

3.ภาพรวมการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินกู้

พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 วงเงินกู้ 1,000,000 ล้านบาท มีการอนุมัติโครงการที่เสนอขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 จำนวน 1,130 โครงการ รวมกรอบวงเงินกู้ 987,012.4097ล้านบาท ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ลงนามสัญญากู้เงิน รวม 982,399 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 หน่วยงานรับผิดชอบโครงการได้เบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินโครงการแล้ว วงเงินรวม 950,193.7225 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.73

พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีการอนุมัติโครงการรวมจำนวน 2,538 โครงการ รวมกรอบวงเงินกู้ 499,997.552 ล้านบาท ซึ่ง สบน. ได้กู้เงิน จำนวน 500,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 หน่วยงานรับผิดชอบได้เบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินโครงการแล้ววงเงินรวม 427,122.9789 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85.43

4.ผลการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการ

ด้านการแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19

- กิจกรรมค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น เงินเยียวยาค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ปฏิบัติงานในการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฉุกเฉินและบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา ทั้งนี้ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติรวม 10 โครงการ วงเงินรวม 18,424.9458 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 6,222.1395 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33.77

- กิจกรรมจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เช่น วัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จำนวน 153.3 ล้านโดส ยารักษาโควิด-19 และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี้ออกฤทธิ์ยาว จำนวน 257,500 โดส ทั้งนี้ มีโครงการได้รับอนุมัติรวม 45 โครงการ วงเงินรวม 80,910.4178 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 58,238.3801 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 71.98

- กิจกรรมค่าบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรค มีโครงการได้รับอนุมัติรวม 14 โครงการ วงเงินรวม 172,443.4421 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 144,576.1258 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.84

- กิจกรรมการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล เช่น การยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ จัดหายา และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ มีโครงการได้รับอนุมัติรวม 19 โครงการ วงเงินรวม 10,018.6396 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 9,566.4612 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 95.49

- กิจกรรมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 เช่น มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน การพัฒนาองค์ความรู้บุคลากรด้านสาธารณสุข และการพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ทั้งนี้ มีโครงการได้รับอนุมัติรวม 8 โครงการ วงเงินรวม 1,697.6952 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 1,612.0235 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.43

ด้านการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชน

- กิจกรรมช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เช่น การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา) มีโครงการได้รับอนุมัติ 45 โครงการ วงเงินรวม 758,505.1938 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 753,603.7019 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99.35

- กิจกรรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ขับรถรับจ้าง ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ และศิลปิน ทั้งนี้ มีโครงการได้รับอนุมัติรวม 6 โครงการ วงเงินรวม 105,989.6830 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 104,720.2450 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.80

ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

- กิจกรรมการพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้เข้าถึงปัจจัยการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เกษตรกร และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบการท่องเที่ยวเชิงอาหาร วงเงินอนุมัติรวม 25,121.3373 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 23,356.8836 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92.98

- กิจกรรมการรักษาระดับการจ้างงานและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน มีโครงการได้รับอนุมัติ 3 โครงการ วงเงินรวม 27,064.6102 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 27,035.0953 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99.89 ทั้งนี้ มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการ 168,080 คน

- กิจกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 29,197 ราย เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ 8,885 ราย ทั้งนี้ มีโครงการได้รับอนุมัติรวม 3,444 โครงการ วงเงินรวม 16,300.2758 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 8,922.6359 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 54.74

- กิจกรรมการกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน เช่น โครงการคนละครึ่ง ดำเนินการรวม 5 ระยะ มีจำนวนประชาชนผู้ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 26.35 ล้านคน สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายรวม 418,644 ล้านบาท โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดำเนินการรวม 5 ระยะ มีจำนวนประชาชนผู้ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 13.61 ล้านคน สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายรวม 76,061 ล้านบาท ทั้งนี้ มีโครงการได้รับอนุมัติรวม 20 โครงการ วงเงินรวม 258,679.5711 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 232,837.9233 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90.01

- กิจกรรมการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน (ด้านชลประทาน) โดยมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์รวม 81,854 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 306,333 ไร่ และมีการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น 15,351 คน ทั้งนี้ มีโครงการได้รับอนุมัติ 4 โครงการ วงเงินรวม 7,132.4772 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผลการเบิกจ่ายรวม 6,654.6951 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93.30

และ 4. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ส่วนใหญ่มีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ เช่น การจัดหาวัคซีนมีความล่าช้าเนื่องจากจำนวนวัคซีนที่ผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศต่าง ๆ การช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนล่าช้า

เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการประสบปัญหาข้อจำกัดของข้อมูลที่จำเป็นต้องคัดกรองคุณสมบัติของผู้มีสิทธิตามโครงการ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูล และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดเนื่องจากการดำเนินโครงการต้องมีการลงพื้นที่หรือรวมกลุ่มในการดำเนินกิจกรรมกับประชาชน