“มิตรผล” แนะใช้โมเดล BCG ฝ่าโลกรวน สตาร์ทอัพร่วมขุด “เพชรในตม” ภาคเกษตร

“มิตรผล” แนะใช้โมเดล BCG ฝ่าโลกรวน สตาร์ทอัพร่วมขุด “เพชรในตม” ภาคเกษตร

ประเทศไทยกำลังถูกดิสรัปทุกมิติ! ต้องเร่งปูพื้นเสริมแกร่งคนรุ่นใหม่เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะ "สตาร์ทอัพไทย" ร่วมวงเสิร์ฟบริการ-นวัตกรรม เพิ่มผลิตภาพสู้คู่แข่งทั่วโลก

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ขณะนี้้ประเทศไทยถูกดิสรัปในทุกมิติที่มีความซับซ้อนมากขึ้น! การเร่งแสวงหาทางออกจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปูพื้นฐานให้เจเนอเรชั่นยุคต่อไปมีโอกาสได้เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในโลกที่มีข้อเรียกร้อง (Requirement) ต่างๆ มากขึ้น

“เมื่อโลกกำลังเผชิญความท้าทายกับวิกฤติซ้ำซ้อนและใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลกรวน วิกฤติพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ขาดแคลนอาหาร และสังคมเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างมาก ดังนั้น การปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ และความต่อเนื่อง​ในการแก้ปัญหาเป็นเป้าหมายสำคัญ ​คือการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจ​ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ​ทางสังคม​”

โดยส่งเสริมให้ภาคการผลิต​ การค้า​ การลงทุนให้มีความเข้มแข็ง​ และสามารถกระจายโอกาสสู่ภูมิภาคซึ่งจะเป็นการพัฒนา​ที่ยั่งยืน ดังนั้น การพัฒนา​เชิงพื้นที่​ (Area-based development) เป็นเป้าหมาย​ที่สำคัญ​ในการกระจายความเจริญ​ โดยเฉพาะใน "ภาคอีสาน" ​ที่มีศักยภาพ​ในภาคการเกษตร​ อุตสาหกรรม​ และบริการ​ รวมทั้งเป็นแหล่งแรงงาน และการค้าชายแดนที่สำคัญ​

หนึ่งในเป้าหมายหลักที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอีสาน คือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี​ชีวภาพ​ เทคโนโลยี​หมุนเวียน​ และ​เทคโนโลยี​เขียว​ (BCG)​ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน​ อย่างไรก็ตาม การประสานสามความร่วมมือ​ทุกภาคส่วนระหว่าง​ภาครัฐ​ ภาคเอกชน​ และภาคประชาสังคม จะเป็นพลังร่วมที่จะขับเคลื่อน​อีสานให้หลุดพ้นจากความยากจนและก้าวสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน

“มิตรผล” แนะใช้โมเดล BCG ฝ่าโลกรวน สตาร์ทอัพร่วมขุด “เพชรในตม” ภาคเกษตร

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบริการส่งเสริมภาคเกษตร เช่น บริการโดรน พ่นปุ๋ย สารอาหาร และอื่นๆ บริการ IoT (Internet of Things) ช่วยตรวจสอบคุณภาพของดินน้ำลมไฟให้สามารถปลูกพืชได้ดีขึ้น เป็นต้น เพราะคำว่า Smart Agriculture (การเกษตรแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และ Precision Farming (การเกษตรแม่นยำสูง) เป็นเหมือน "เพชรในตม" สามารถช่วยยกระดับภาคเกษตรของไทยให้มีผลิตภาพ (Productivity) มากขึ้นได้ ควบคู่กับการนำโมเดล BCG มาใช้ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเปลี่ยนแปลงและผันผวนรอบด้านจากปัจจัยต่างๆ เช่น การแบ่งค่ายของโลก การต่อสู้ทางเศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี รวมถึงภาวะโลกร้อน

กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (KKIC) กล่าวเสริมว่า การนำโมเดล BCG มาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นฐานด้านการเกษตรและอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทาง KKIC จึงร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 50 ราย จัดงาน Isan BCG Expo 2022 งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อขยายพลังความร่วมมือการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ครั้งแรกในภาคอีสาน ทางรอดเดียวที่ช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

พร้อมผลักดันและสร้างให้ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน จากศักยภาพและความพร้อมของภาคอีสานที่เหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยี และสังคมสีเขียวตามโมเดล BCG เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากร และความพร้อมของแรงงาน รวมถึงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และจีนตอนใต้ผ่าน ASEAN Highway และรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาใน "ขอนแก่น" จังหวัดศูนย์กลาง ประตูสู่ภาคอีสาน ที่เป็นเมืองแห่งการศึกษา เป็นศูนย์รวมโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์ที่ล้ำสมัยที่สุดในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง

สำหรับงาน Isan BCG Expo 2022 ภายใต้แนวคิด Collaboration “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” จัดขึ้นวันที่ 9-12 ธ.ค.2565 ณ Khon Kaen Innovation Center จังหวัดขอนแก่น และบริเวณโดยรอบ อาทิ ย่านศรีจันทร์ เทศบาลเมืองนครขอนแก่น และถนนไก่ย่าง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 62,500 ตร.ม. จัดแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ พร้อมผลักดันโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาภาคอีสานสู่ศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคผ่านโซนต่างๆ อาทิ Creative, Innovative และ Green

“มิตรผล” แนะใช้โมเดล BCG ฝ่าโลกรวน สตาร์ทอัพร่วมขุด “เพชรในตม” ภาคเกษตร