ยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ ดันไทยผู้นำ 'ลดคาร์บอน'

ยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ ดันไทยผู้นำ 'ลดคาร์บอน'

ทิศทางการลงทุนของประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยน โดยเฉพาะเมื่อมีเมกะเทรนด์ที่มีผลต่อการลงทุน เช่น สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งภาครัฐของไทยได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่จะรองรับการลงทุน ในขณะที่ภาคเอกชนได้มีการปรับทิศทางการลงทุนในสอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจ

ในขณะนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา "SMEs Startup" วิสาหกิจชุมชน การลงทุนที่สนับสนุนการลดคาร์บอนให้มีความเข้มแข็งยั่งยืน สอดคล้องศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึง

อนุชา บูรพชัยศรีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 โดยได้พิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ SMEs Startup และวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่เพื่อให้เกิดการเติบโตทั่วถึง โดยการดำเนินงานวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ และประเมินติดตามผลต่อเนื่องใกล้ชิด เพื่อปรับการดำเนินการให้สอดคล้องสถานการณ์ รวมทั้งให้บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบทั้งแผนงาน แผนคน และแผนเงิน

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการส่งเสริมการลงทุนต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งรัฐบาลและทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการร่วมมือกันที่จะไปสู่เป้าหมายตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลก 

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นการส่งเสริมการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี 2563 ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% เมื่อเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจก 

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้กำหนดหมุดหมายที่ 10 ในแผนพัฒนาฉบับนี้ เพื่อให้ไทยมี “เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ” มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ (2561-2580) โดยสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ได้แก่ 

1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ในด้านการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ และให้ผลประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 

2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ในการอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศ อุตสาหกรรมและบริการที่เหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอย่างยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ ดันไทยผู้นำ \'ลดคาร์บอน\'

3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนา และใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

สำหรับเป้าหมาย ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายของการพัฒนาระดับหมุดหมายที่ 10 ได้แก่  การเพิ่มมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวชี้วัดต่างๆดังนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจากเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้น สามารถสนับสนุน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1% ในปี 2570 การบริโภควัสดุในประเทศมีปริมาณลดลงไม่น้อยกว่า 25% ในปี 2570

รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยคะแนนดัชนีสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ติดอันดับ 1ใน 3 ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีคะแนนไม่น้อยกว่า 55 คะแนน ในปี 2570 พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น โดยเป็นป่าไม้ธรรมชาติ 33% และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ 1 ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2570 

ส่วนเป้าหมายการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ตัวชี้วัดสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 24% ภายในปี 2570 การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ของประเทศไม่ต่ำกว่า 40% ของปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ภายในปี 2540

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 พ.ย.2565 จะมีการจัดสัมมนา EGCO Group Forum 2022 “Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ตั้งแต่เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี EGCO Group ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานครบวงจร