นักวิชาการชี้ ‘ช้อปดีมีคืน’ฟื้นเศรษฐกิจ หนุนใช้จ่าย – ลดภาษีสูงสุด 1 แสนบาท

นักวิชาการชี้ ‘ช้อปดีมีคืน’ฟื้นเศรษฐกิจ หนุนใช้จ่าย – ลดภาษีสูงสุด 1 แสนบาท

นักวิขาการนิด้าหนุนรัฐบาลใช้ช้อปดีมีคืนช่วยฟื้นเศรษฐกิจ การบริโภค การท่องเที่ยวภายในประเทศ ดึงคนมีรายได้สูงใช้จ่าย แนะให้เพดานใช้สูงสุด 1 แสนบาท รวมค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวโดยไม่ต้องออกมาตรการเราเที่ยวด้วยกันชี้ช่วยจูงใจให้ท่องเที่ยวมากกว่า

เป็นประจำทุกปีที่ในช่วงปลายปีเก่าต่อไปจนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะสั่งการให้หน่วยงานราชการ กระทรวงต่างๆจัดหา "ของขวัญปีใหม่" ให้กับประชาชน โดยนัยหนึ่งคือการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆซึ่งจะมีทั้งมาตรการที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการบริโภคที่มีขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายหมุนเวียนมากขึ้น และมีแรงส่งหรือโมเมนตั้มส่งต่อไปถึงเศรษฐกิจปีหน้า 

เช่นเดียวกับในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ว่าให้หน่วยงานต่างๆไปพิจารณาของขวัญปีใหม่ที่จะให้กับประชาชน ต่อมาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ก็มีหนังสือถึงหน่วยงานราชการเรื่องการจัดสรรของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน อาจเป็นนโยบายเดิมที่ใช้ได้ผลเช่น มาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน รวมทั้งมาตรการช้อปดีมีคืน เป็นต้น 

ในส่วนของ มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นรูปแบบการให้ประชาชนใช้จ่ายซื้อสินค้าและนำเอาใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามวงเงินที่กำหนดไว้ โดยการลดหย่อยภาษีแต่ละบุคคลจะขึ้นกับลำดับของรายได้ในการเสียภาษีเป็นขั้นบันไดซึ่งแต่ละคนจะได้รับการลดภาษีฯไม่เท่ากัน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายที่รัฐบาลออกมาในช่วงปลายปีและสามารถสร้างความคึกคักในการจับจ่ายของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง 

นักวิชาการชี้ ‘ช้อปดีมีคืน’ฟื้นเศรษฐกิจ หนุนใช้จ่าย – ลดภาษีสูงสุด 1 แสนบาท

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า มาตรการช้อปดีมีคืน ถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชนได้ดีโดยเฉพาะประชาชนที่ยังมีกำลังซื้อ และอยู่ในระบบฐานภาษี ซึ่งคนในกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยกว่าประชาชนที่อยู่นอกระบบภาษีแต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อซึ่งจะต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 

โดยมาตรการช้อปดีมีคืนในปีที่ผ่านๆมาก็ได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะช่วงเวลาที่ออกมาก็เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการใช้จ่ายซื้อสินค้าและท่องเที่ยว โดยในปีที่ผ่านๆมามาตรการช้อปดีมีคืนมักจะจำกัดเพดานการใช้จ่ายไว้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน ในครั้งนี้ควรจะมีการขยายเพดานการใช้จ่ายให้สูงถึง 1 แสนบาทต่อคน

เพราะการกำหนดเพดานที่สูงของมาตรการก็ยิ่งได้ประโยชน์จากการออกมาตรการเพราะคนที่มีกำลังซื้อจะเข้ามาใช้จ่ายผ่านมาตรการนี้จำนวนมากทำให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคึกคักขึ้นผ่านมาตรการนี้ได้ ส่งผลให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ วงเงินการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนบาทต่อคนนั้น ควรจะรวมเอาการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมเข้ามาเพื่อให้ใช้ลดหย่อนภาษีได้ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางซื้อตั๋วเครื่องบิน การจองโรงแรมที่พัก สามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วยซึ่งหากออกมาตรการมาครอบคลุมการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวผ่านมาตรการช้อปดีมีคืนแล้วรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเราเที่ยวด้วยกันออกมาก็ได้ 

"ตอนนี้หากจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องอาศัยในส่วนของคนที่มีกำลังซื้อซึ่งเป็นคนที่อยู่ในระบบฐานภาษีที่เสียเงินได้บุคคลธรรมดา และคนที่มีกำลังซื้อมากซึ่งเป็นคนที่อยู่ด้านบนของปิรามิดซึ่งหากมีมาตรการช้อปดีมีคืนและกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยวงเงินที่เพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะซื้อสินค้ามากขึ้นช่วยให้เกิดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้น" นายมนตรี กล่าว