ซื้อขายออนไลน์คือการซื้อขายในตลาดแบบตรง | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

ซื้อขายออนไลน์คือการซื้อขายในตลาดแบบตรง | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

ปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีมากขึ้น เช่น ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าล่าช้า ซึ่งหลายคนไม่ทราบว่า การซื้อขายสินค้าอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ฉบับนี้ จึงจะกล่าวถึงสาระสำคัญโดยสังเขปเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ในส่วนตลาดแบบตรง

ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน เช่น ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าล่าช้า หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่ทำสัญญา

ซึ่งผู้บริโภคน้อยรายที่จะทราบว่าการซื้อขายสินค้ารูปแบบดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545” และ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560” จึงขอกล่าวถึงสาระสำคัญโดยสังเขปเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ในส่วนตลาดแบบตรง

การขายตรง (Direct Selling) คือ วิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการรูปแบบหนึ่งที่ผู้ขายหรือเรียกว่าผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง นำสินค้าไปขายให้กับผู้ซื้อโดยตรงถึงบ้านหรือสถานที่อื่นที่มิใช่ร้านค้าปกติทั่วไป เช่น ธุรกิจขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Amway หรือเครื่องสำอาง Mistine

ซื้อขายออนไลน์คือการซื้อขายในตลาดแบบตรง | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

ส่วนตลาดแบบตรง (Direct Marketing) คือ การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต แอพลิเคชั่น แผ่นพับ เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง

และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ดังนั้น การทำตลาดโดยใช้สื่อในการนำเสนอ การขายสินค้าออนไลน์หรือธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) จึงเป็นการขายในตลาดแบบตรง เช่น การขายผ่านเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ  

แพลตฟอร์ม” (Platform) คือช่องทางบนโลกออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น ร้านค้า สินค้า จำนวนมากเข้าไว้ด้วยกัน เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้ซื้อผู้ขายได้มาพบกันในโลกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เช่น Shopee, Lazada, Facebook, Instagram, Line, Market Place 

โดยผู้ที่จะทำการตลาดแบบตรงไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มิฉะนั้น จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ โดยขณะนี้ในระบบของ สคบ. มีผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจำนวน 767 ราย

ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนฯ ต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อนำมาใช้ในกรณีเกิดความเสียหายแต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่รับผิดชอบใด ๆ สคบ.ก็จะนำเงินหลักประกันส่วนนี้มาชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภคในเบื้องต้น โดยหลักประกันจะเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารก็ได้ และผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องจัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภคด้วย

ซื้อขายออนไลน์คือการซื้อขายในตลาดแบบตรง | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

การคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายนี้คือ ให้สิทธิผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลา 7 วันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยควรบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรทางอีเมลหรือไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เพื่อให้มีหลักฐานว่าผู้ขายได้รับหนังสือเมื่อใด

และให้เลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ส่งคืนสินค้าไปยังผู้ขายหรือเก็บรักษาสินค้าไว้ตามสมควรภายในระยะเวลา 21 วัน นับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา 

เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจะต้องคืนเงินเต็มจำนวนให้แก่ผู้บริโภคภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา และหากผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในเวลาดังกล่าวก็จะต้องชำระเบี้ยปรับตามที่กฎหมายกำหนด 

สิทธิในการบอกเลิกสัญญาและคืนสินค้าที่ซื้อทางออนไลน์นั้น สอดคล้องกับหลักสากลคือ สิทธิในการเลิกสัญญาเมื่อไม่พึงพอใจในสินค้าหรือบริการ ที่เรียกว่าหลัก Cooling Off Period แต่ผู้ซื้อต้องใช้สิทธิโดยสุจริต และขณะนี้ สคบ. เพิ่งรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นสิทธิผู้บริโภคในการคืนสินค้า (Cooling Off Period)” ในสินค้าบางประเภทซึ่งต้องติดตามต่อไป

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไว้หลายประการ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่ทำให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์บางกรณีไม่ต้องจดทะเบียนต่อ สคบ. เป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งเป็นไปตาม “กฎกระทรวง กำหนดการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561” ซึ่งได้แก่ 

  • การขายสินค้าหรือบริการของบุคคลธรรมดา ซึ่งมิได้ทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี 
  • การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
  • การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
  • การขายสินค้าหรือบริการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐต้องการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจ SMEs ผู้จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชน เช่น สินค้า OTOP รวมถึงกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ 

ประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า แม้กฎกระทรวงดังกล่าวจะมีขึ้นเพื่อสนับสนุนให้การค้าขายโดยผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กรายน้อยไม่ถูกจำกัดหรือเข้มงวดด้วยข้อกฎหมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นการที่รัฐยกเลิกกฎหมายที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคออกไปด้วย

เพราะหากผู้บริโภคเข้าทำสัญญาซื้อขายสินค้าออนไลน์จากผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยหรือกลุ่มผู้ขายข้างต้น ผู้บริโภคก็จะไม่มีสิทธิเลิกสัญญาและคืนสินค้าตามหลัก Cooling Off Period รวมถึงสิทธิอื่น ๆ

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าหากรัฐจะกำหนดนโยบายผ่อนปรนก็ควรคำนึงถึงการวางมาตรฐานผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในภาพรวมด้วย เพราะการกำหนดมาตรฐานของผู้ประกอบธุรกิจให้อยู่ในระดับสากลนอกจากจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคแล้ว

ก็ย่อมเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งพัฒนาตัวเองและคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อแข่งขันกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อทุกฝ่ายในระยะยาว

คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0
สุพัทธ์รดา เปล่งแสง 
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์