“ไทย-ซาอุ”เปิดเวทีลงทุน ปิโตรเคมี-ยานยนต์-เกษตร

“ไทย-ซาอุ”เปิดเวทีลงทุน ปิโตรเคมี-ยานยนต์-เกษตร

ภาครัฐและเอกชนไทยได้จับมือเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในตลาดศักยภาพแห่งใหม่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยได้มีการจัดสัมมนาออนไลน์ร่วมกับ กระทรวงการลงทุนของซาอุฯ ตั้งเป้าขยายการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ก่อสร้าง โลหะและเหมืองแร่ เกษตร และยานยนต์

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2565 ส.อ.ท.ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ไทย และกระทรวงการลงทุน ซาอุดิอาระเบีย จัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ “INVESTMENT AND BUSINESS OPPORTUNITIES IN SAUDI ARABIA” โดยมีประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ร่วมพูดคุยกับนักธุรกิจซาอุฯ 100 ราย เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันโดยกำหนดเป้าหมายใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี โลหะและเหมืองแร่ ชิ้นส่วนยานยนต์ และการเกษตร 

“ในช่วงที่คณะนักธุรกิจไทยเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียเมื่อปลายเดือน ส.ค. นั้น ซาอุฯ ได้แสดงความสนใจต่อการร่วมมือกับไทยในหลายหลายด้าน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับภาคการส่งออกไทยไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง รวมทั้งจะเป็นการเปิดประตูสู่ประเทศตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต”

นอกจากนี้ ซาอุฯ กำลังดำเนินนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า นีอุม NEOM (Saudi Arabia Smart City) ภายใต้โครงการ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยลดการพึ่งพารายได้หลักจากอุตสาหกรรมน้ำมัน และขยายกสนลงทุนในธุรกิจ non-oil ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะเข้าไปส่งเสริมการค้าและบริการในนโยบายดังกล่าว เช่น เฟอร์นิเจอร์ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างจากการก่อสร้างและขยายเมืองใหม่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รวมไปถึงธุรกิจบริการด้านการออกแบบภายในที่จะส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

"การสัมมนา webinar ครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย โดยตั้งเป้าไว้ที่10,000 ล้านบาทในปีแรก ภายใต้การดำเนินงานของสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย สภาธุรกิจซาอุดีอาระเบีย-ไทย และกระทรวงส่งเสริมการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนจะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ (Health & Wellness) อีกด้วย”

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงและต้นทุนการผลิตที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น การเจาะตลาดคู่ค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา อเมริกาใต้ จะเป็นโอกาสของไทยในด้านการค้าและการลงทุน

โดยตลาดตะวันออกกลางมีมูลค่าการค้ากับไทย 32,101 ล้านดอลลาร์ ตลาดลาตินอเมริกา มีมูลค่าการค้ากับไทย 11,427 ล้านดอลลาร์ และตลาดอเมริกาใต้ มีมูลค่าการค้ากับไทย 7,227 ล้านดอลลาร์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมประชุมกับ ส.อ.ท. เพื่อเร่งติดตามผลการขยายตลาดสินค้าไทยในซาอุฯ

ทั้งนี้ ถือเป็นอีกมิติของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าการส่งออก

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินตามนโยบายเชิงรุกและเชิงลึก และติดตามการเปิดตลาดการค้าและด้านอื่นๆ ระหว่างไทยกับซาอุฯ หลังการเดินทางไปเยือนซาอุฯ เมื่อปลายเดือน ส.ค.โดยมีประเด็นสำคัญ 5 เรื่องที่หารือร่วมกัน

1.การทำสัญญาซื้อ-ขายสินค้าไทยไปซาอุฯ ซึ่งไทยได้ทันที 3,500 ล้านบาท

2.มีผลให้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุฯ โดยตั้งเป้าหมายภายใน 1 ปี จะทำมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 10,000 ล้านบาท และประเด็นอื่นๆ ที่มีข้อสรุป ได้แก่ 

กระทรวงพาณิชย์จะจัดคลินิกส่งเสริมการส่งออก หรือ Export Clinic ไปตลาดซาอุฯ เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างสภาอุตสาหกรรม ภาคเอกชนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ให้คำปรึกษา กฎระเบียบ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี สินค้าที่ต้องการของซาอุฯบริการ ระบบการขนส่ง และการจัดตั้งสายด่วน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังซาอุฯให้มากขึ้น โดยเฉพาะหมวดอาหาร การก่อสร้าง ปิโตรเคมี และยานยนต์ เป็นต้น 

รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยในซาอุฯ โดยเบื้องต้น กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนนำสินค้าไทยร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญที่ซาอุฯ โดยคัดเลือกไว้เบื้องต้น 5 งานสำคัญ

“ไทย-ซาอุ”เปิดเวทีลงทุน ปิโตรเคมี-ยานยนต์-เกษตร 3.การจัดสัมมนาออนไลน์ระหว่างนักธุรกิจไทย-ซาอุฯ ส่งเสริมการค้าการลงทุนในสาขาสำคัญ เช่น ปิโตรเคมี การก่อสร้างเหล็ก อะลูมิเนียม อาหาร การเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมการส่งออก

“นอกจากเราขายอาหารที่เป็นที่ต้องการ คืออาหารฮาลาลให้กับซาอุฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแล้ว ต้นไม้จะเป็นอีกสินค้าทำเงินให้ประเทศ หรือสร้างเงินให้ประเทศต่อไปในอนาคต จะได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปช่วยกันขับเคลื่อน”

4.ที่ประชุมติดตามได้ความคืบเขตการค้าเสรี (FTA) ไทยกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเร่งรัดให้มีการเจรจาให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว และติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ซาอุฯ (Joint Trade Committee: JTC) ซึ่ง รมว.ต่างประเทศซาอุฯ ให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นต่อไปเป็นการจัดตั้งให้เป็นเวทีเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศต่อไป

5.ติดตามความคืบการเจรจากับทางการซาอุฯ ในเรื่องต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ 10 ประเด็น เช่น การเร่งให้ อย.ซาอุ(SFDA) เดินทางมาตรวจโรงงานผลิตและส่งออกไก่แช่เย็น-แช่แข็ง โดยมีจะมีการพัฒนามาตรฐาน อย. อาหารฮาลาลให้สามารถส่งออกได้โดยไม่ต้องมีการตรวจซ้ำซ้อน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตลาดไก่ต้มสุกต่อไป ซึ่งไก่ต้มสุกจะมีมูลค่าการตลาดมหาศาล 

การขอวีซ่าสำหรับนักธุรกิจไทยลดขั้นตอนขอหนังสือเชิญจากซาอุฯ ซึ่งเป็นอุปสรรค โดยวันนี้มีความคืบหน้าแนวโน้มที่จะเป็นไปได้จากนี้คือการขอวีซ่าของนักธุรกิจไทยไปซาอุฯ ให้ ส.อ.ท. สภาหอการค้าฯ หรือกลไกภาคเอกชนอื่นที่กฎหมายรับรองจากรัฐบาลไทยออกหนังสือรับรองให้ยื่นขอวีซ่าได้จะสะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตลาดซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและกำลังรอการเติบโต โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย ในเดือน ม.ค.-ส.ค.2565 อยู่ที่ 43,114 ล้านบาท ขยายตัวถึง 15.9% โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปและเครื่องจักรและส่วนประกอบของ เครื่องจักร รวมถึงอาหารสัตว์