เข้าใจสินค้า-ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โจทย์แบรนด์สื่อสารสร้างยอดขาย

เข้าใจสินค้า-ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย  โจทย์แบรนด์สื่อสารสร้างยอดขาย

อุตสาหกรรมสื่อโฆษณามีเม็ดเงินมหาศาล แม้ช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 จะเบรกแบรนด์ใช้ง จนฉุดตลาดรวมหดตัว แต่ปี 2565 เห็นสัญญาณบวกมากขึ้น แต่ทิศทางการสื่อสารตลาดถึงผู้บริโภคเปลี่ยนไป เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม และสื่อมีแพลตฟอร์มหลากหลายมากขึ้น

แนวโน้มการโฆษณาและการสร้างประสบการณ์ต่อแบรนด์กับผู้บริโภคหลังโควิดคลี่คลาย จะเป็นอย่างไร กูรูสื่อและการตลาดให้มุมมอง

เมื่อช่องทางสื่อสารการตลาดและปิดการขายทำเงินให้แบรนด์มีหลากหลาย การเข้าใจสินค้าตัวเอง เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคสำคัญอย่างยิ่ง

โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด(มหาชน) เล่าสถานการณ์ช่วง 2 ปีของการเกิดโควิด บริษัทมีการปรับตัวด้านการสื่อสารตลาดกับลูกค้ามากขึ้น เมื่อแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ ไม่สามารถขายสินค้าได้ จึงหันลุยอีคอมเมิร์ซเต็มสูบสร้างการเติบโต บริษัทได้ผนึกห้างค้าปลีกสมัยใหม่ Live ขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซทำเงินหลายสิบล้ายบาท

ปี 2565 “เทโร” เทียบตัวเองเป็น Collab Maker จึงผนึกพันธมิตรในการสร้างสรรค์รายการออกอากาศช่อง 7 เช่น ควงช่อง 7HD ปรับโฉมรายการข่าว ร่วมกับแบไต๋ ทำรายการ beartai 7HD เป็นต้น ตรึงคนดูแต่ละเซ็กเมนต์

เดิมจุดแข็งการสร้างสรรค์รายการ จะมาจากผู้ผลิตต่างๆ ปัจจุบันคอนเทนท์ที่เกิดจากผู้บริโภค(User-Generated Content:UGC )ทรงพลัง มาอยู่บนสื่อหลัก(Mass Media)มากขึ้น อย่างบริษัทป้อนคอนเทนท์ผ่านช่อง 7เอชดีทุกวันๆละ 3 ชั่วโมง(ชม.) ในรายการข่าวเวลา 16.00-18.00 น. สัดส่วน 20% มาจากคลิป เรื่องของที่ประชาชนสร้าง

นอกจากนี้ การเข้ามาของแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก(TikTok) ซึ่งนำเสนอคลิปวิดีโอสั้น เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการเสพคอนเทนท์อย่างมาก ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ตอบโจทย์คนดู เช่น Youtube Shorts Reel ของเฟซบุ๊ก อิสตาแกรม เป็นต้น

“2-3 ปีก่อน Live is the king ตอนนี้ไม่ใช่ คอนเทนท์ถ่ายทำยาวๆเริ่มเหนื่อย ขณะที่วิดีโอสั้นบนติ๊กต๊อกโกยคนดูมหาศาล ขณะเดียวกันคอนเทนท์ที่เกิดจากผู้บริโภค มีอิทธิพลมากขึ้น แบรนด์สามารถเข้าไปสร้างเนื้อหาเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเอนเกจเมนต์ได้”

เมื่อคอนเทนท์คืออาวุธสื่อสารกับลูกค้า แต่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต้องครบทุกช่องทาง จึงยก 5A ของกูรูการตลาดระดับโลกมาแชร์ต่อ เริ่มจาก Awareness สร้างการรับรู้ โปรโมทแบรนด์ผ่านทุกสื่อ Appeal กระตุ้นให้เกิดความสนใจสินค้า Ask มีแชทบอทพร้อมตอบคำถามให้ข้อมูลลู Act เมื่อลูกค้าต้องการซื่อสินค้า ต้องพร้อมขายทุกช่องทาง และ Advocate สร้างกระบอกเสียงให้แบรนด์ เช่นไทอินสินค้า ผ่านพิธีกร นักแสดง ซึ่งรายการถกไม่เถียง แบไต๋7HD ทำอยู่ เป็นต้น

“ปีนี้ผู้บริโภคลำบากค่อนข้างมาก เราจะนำเสนอรายการข่าวดี ดูแล้วสบายใจ และจับมือกับแบรนด์จัดโปรโมชั่นแจกสินค้าให้ลูกค้ามากขึ้น”

ด้าน อคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Viu (วิว) ประเทศไทย กล่าวว่า ในการสื่อสารการตลาด สิ่งแรกต้องเข้าใจสินค้า และมองกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อสารคือใคร ซึ่งปัจจุบันการเจาะผู้บริโภคไม่ได้มองแค่ลักษณะประชากรศาสตร์ เพศ อายุ ฯ แต่มองลึกถึงสิ่งที่คนสนใจมากขึ้น

วิวเป็นหนึ่งในผู้เล่นโอทีที เดิมฐานคนดูเป็นผู้หญิง ชื่นชอบซีรีย์เกาหลี เมื่อต้องการขยายฐานผู้ชมช่วงวิด พบอินไซต์คนชอบดูคอนเทนท์เดิมๆ จึงต่อยอดด้วยการพากษ์ภาษาท้องถิ่น ทั้งเหนือ อิสาน

ณัชชา บางท่าไม้ ผู้อำนวยการแผนก คอนเทนท์ พลัส(Content+)มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวว่า แบรนด์ นักการตลาดให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น เพื่อทำแคมเปญสื่อสารตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ทำให้สื่อใหม่เติบโตรวดเร็ว  แม้สื่อใหม่มาแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าสื่อดั้งเดิม “ออฟไลน์” ต่างๆจะตาย เพราะหลายกระแสที่เกิดบนโลกออนไลน์ มีต้นทางจากสื่อออฟไลน์ไม่น้อย

ยุคดิจิทัลผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์หรือKOL มีพลังในการทำตลาด แต่เทรนด์มาแรงคือ Key Opinion Customer/Consumer หรือ KOC ตลอดจนผู้บริโภคสร้างคอนเทนท์ ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายยิบย่อยกว่าเดิม

“ในการทำโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมาย แบรนด์และนักการตลาดต้องเข้าใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย หากไม่เข้าใจจะก้าวพลาด การสื่อสารอาจไม่เจาะทุกสื่อเป็นเส้นตรงเหมือนในอดีต เพราะบางครั้งสร้างการรับรู้แบรนด์สินค้า ก็สร้างยอดขายได้”