เปิดประเทศ โควิดคลาย ดันดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นต่อเนื่อง

เปิดประเทศ โควิดคลาย ดันดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นต่อเนื่อง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนส.ค.65 อยู่ที่ระดับ43.7 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากการเปิดประเทศ คลายกังวลโควิด-19

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า    ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนส.ค.65 อยู่ที่ระดับ43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนก.ค..ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.พ. เป็นต้นมา ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 37.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 40.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.3

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นมาจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม

"ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  เป็นผลจากการเปิดประเทศที่มีการยกเลิกระบบ Thailand Pass ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อาจสูงกว่า 10 ล้านคนในปีนี้เป็น 12 ล้านคน การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจในประเทศสามารถเดินหน้าได้ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น  โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวและเข้าสู่ขาขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป"

โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ตามกรอบที่ประเมินไว้  3-3.5 %

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศมองว่า ไม่มีผลกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายน่าจะอยู่ในกรอบ 5,000 -10,000 ล้านบาทแต่ผลกระทบดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถชดเชยได้จากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นี้ ซึ่งหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อเดือน ก็จะทำรายได้ราว 50,000 ล้านบาท ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นและเป็นแรงส่งสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  จึงมองว่า  จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4%