รัฐบาลอุ้มต่อราคาพลังงาน 'สุพัฒนพงษ์' ยันไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง

รัฐบาลอุ้มต่อราคาพลังงาน 'สุพัฒนพงษ์' ยันไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง

“สุพัฒนพงษ์” เผย ครม.หารือวันนี้(13 ก.ย.) เตรียมเคาะมาตรการดูแลราคาพลังงาน“ลดภาษีดีเซล-ช่วยค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง” เจียดงบกลางฯปี65 – 66 เดือนละ2000ล้าน ยันยึดวินัยการคลัง หลังใช้เงินไปแล้ว2แสนล้าน “คลัง”ตรึงต่อสูญรายได้อีก 2 หมื่นล้าน ด้านกบน.เลื่อนถกปรับดีเซล

 

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ณ วันที่ 9 ก.ย. 2565 ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรง กดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์  โดยราคาดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ 130.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลลดลง 0.10 ดอลลาร์  ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 90.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากหน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันบมจ. ไทยออยล์ ซึ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังมีทิศทางผันผวนอย่างต่อเนื่อง 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการสัมมนาประจำปี “Energy Symposium2022” จัดโดย สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าสถานการณ์ราคาพลังงานที่ราคาเพิ่มขึ้นจากผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤตหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

กว่า 8 หมื่นล้านบาท และอาจไปถึง 1แสนล้านบาทได้เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกยังอยู่ระดับสูงมากซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

“หากคำนวณเฉพาะในส่วนของเชื้อเพลิงก๊าซLNGที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน20%ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้าจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า8-9บาทต่อหน่วย

ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลก็เข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่ที่ประชาชนมากเกินไป และทำให้ภาคการผลิตของไทยยังสามารถที่จะแข่งขันได้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในอาเซียน ทั้งนี้ก็ยังคงต้องขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงาน หากสามารถลดการใช้พลังงานและลดการนำเข้าเชื้อเพลิงส่วนนี้ได้ก็จะส่งผลดีต่อเรื่องของค่าไฟฟ้าในประเทศมากขึ้นเพราะจะสามารถลดการนำเข้าก๊าซLNGเข้ามาเพื่อผลิตไฟฟ้าได้”

งบกลางช่วยกลุ่มเปราะบาง 

ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลจะยังคงช่วยดูแลราคาพลังงานต่อไปโดยคำนึงถึงวินัยทางการเงินการคลัง จึงมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มโดยเน้นที่กลุ่มเปราะบาง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากการแบกรับภาระทางการคลังของประเทศในระยะต่อไป

สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือราคาพลังงานให้กับประชาชนในวันนี้ (13ก.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาใน2เรื่อง1.การต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่จะหมดอายุในวันที่ 20ก.ย.2565  โดยกระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ว่าจะเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเท่าไหร่ ในระยะเวลามากน้อยแค่ไหน โดยในส่วนนี้ก็ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดเพราะปัจจุบันแม้ราคาน้ำมันดิบในภาพรวมจะปรับลดลงแต่ราคาน้ำมันดีเซลยังทรงตัวในระดับสูงซึ่งรัฐบาลก็คงต้องช่วยเหลือต่อไป

2.การช่วยเหลือในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย วงเงินประมาณ8พันล้านบาท ล่าสุดได้ข้อสรุปที่จะเสนอ ครม.แล้วว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นระยะเวลา4เดือน ครอบคลุมตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. โดยงบประมาณที่ใช้มาจากงบกลางรายการใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ2565และงบกลางฯปี2566เฉลี่ยประมาณเดือนละ2,000ล้านบาท จากนั้นจึงค่อยมาทบทวนดูมาตรการช่วยเหลืออีกครั้งในอีก4เดือนข้างหน้าหลังจากมาตรการนี้หมดลง

สำหรับการส่งเสริมการติดตั้งโซชาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ของประชาชนตามแนวความคิดของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ไปหามาตรการสนบัสนุน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องการติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการทางภาษีสนับสนุนการติดตั้งของประชาชน หลังจากที่การติดตั้งโซลาร์เซล์ของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI)รองรับไว้แล้ว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงในรอบ 14 ปี ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ประกอบกับเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว และหลายประเทศมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยในระยะถัดไป จากผลของการปรับดอกเบี้ยที่ปรับตัวแรงและปัจจัยน้ำมันที่อยู่เหนือการควบคุมจากปัญหาสงคราม เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

สำหรับการปรับตัว และความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤตพลังงานโลกนั้น จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในภาคอุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น การค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานรูปแบบ online เพิ่มมากขึ้น เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยมีการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

จับตาลดภาษีดีเซล5บาทอีก2เดือน

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีการลดภาษีน้ำมันดีเซลอีกลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่ 21 ก.ย.-30 พ.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้กระทรวงคลังสูญเสียรายได้การจัดเก็บงบประมาณเดือนละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลดังกล่าว จะถือว่า เป็นการลดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งจะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้มากกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ ลดไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกช่วงวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.65 ลดภาษีลิตร 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท ครั้งที่2 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. เป็นเวลา 2 เดือน ครั้งนี้ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย. เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลดภาษีดีเซลทุก 1 บาท จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อเดือน

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)กล่าวว่าคณะกรรมการ กบน. ที่มีนายสุพัฒนพงษ์  เป็นประธาน ไม่มีการพิจารณาการปรับราคาน้ำมันดีเซลในรอบนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ได้วางมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล50%  ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่าลิตรละ 35 บาทเป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค. – ก.ย. 2565) แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้นำมาปรับใช้แต่อย่างใด เนื่องจากต้องการบรรเทาผล

กระทบให้ประชาชน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงยังคงสูงกว่าราคาขายปลีกในประเทศที่ลิตรละ 35 บาท

กองทุนน้ำมันติดลบแล้ว 1.2แสนล้าน

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่4ก.ย.2565ติดลบ122,214ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ80,343ล้านบาท และบัญชีก๊าซLPGติดลบ41,871ล้านบาทกระแสเงินสดเหลืออยู่ที่ 893 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินฝากธนาคาร 293 ล้านบาท และเงินฝากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 600 ล้านบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้กล่าวถึง การปรับตัว และความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤติพลังงานและวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ส.อ.ท. ได้วางแผนการขับเคลื่อนทั้ง First Industries อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ New S-Curve อุตสาหกรรมใหม่ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีแนวโน้มสูงมากที่จะเติบโตในอนาคต 

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิมนั้น ส.อ.ท. ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ONE F.T.I. มีเป้าหมายร่วมกันที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วย One Vision, One Goal and One Team ภายใต้แนวคิด BCG Economy Model ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ เข้ามาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ (Bio-Circular-Green Economy) ไปพร้อมกัน

ดึงBCGเสริมแกร่งอุตฯดั้งเดิม

1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยสอท. ได้จัดทำ Smart Agriculture Industry หรือ SAI in the City มุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ เป็นสำคัญ

2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) : ลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง และไม่ให้เกิดของเสีย หรือลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero-Waste)

3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) : การทำโครงการอุตสาหกรรมเมืองน่าอยู่ (Eco Factory) เพื่อให้ชุมชนกับอุตสาหกรรมอยู่รวมกันได้ ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาด พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม