สรท.คงคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 65 ไทยอยู่ที่ 6-8 %

สรท.คงคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 65 ไทยอยู่ที่ 6-8 %

ผู้ส่งออกอ่วม ต้นทุนเพิ่มจากศึกนอกศึกใน วอนภาครัฐตรึงราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า พร้อมไฟเขียวปรับราคาสินค้า ช่วยลดภาระต้นทุนการผลิต หนุนส่งออกไทย หลังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพียบ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า  การส่งออกไทยเดือนก.ค.มีมูลค่า 23,629.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.3% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนก.ค.ขยายตัว 4.1% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289.8 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทย ขาดดุล 3,660.5 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทย7 เดือน คือตั้งเดือนม.ค. – ก.ค.ของปี 2565 มีมูลค่า 172,814.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.5% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออก 7 เดือน 8.3%  ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 182,730.4 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 21.4% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทย 7 เดือนแรกปี 65 ขาดดุล 9,916.3 ล้านดอลลาร์

สรท.คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ทั้งปีที่ 6-8% โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่ 1. สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง IMF คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 ประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% และประเทศเกิดขึ้นหรือประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 9.5% ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่างทั่วโลกมีสัญญาณชะลดตัว

2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง / ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

3. สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง อีกทั้งค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ตู้เปล่าเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

4. ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1. ด้านพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป และ ช่วยพิจารณาควบคุมหรือตรึงอัตราค่าไฟฟ้า (ค่า FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนออกไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ผู้ผลิต  ภาคครัวเรือน ต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านการผลิตและค่าใช้จ่ายประจำวันที่สูงจนเกินไป

2.ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณา อนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง