เซ็ปเป้-เวิร์คพอยท์’’ ลุย F&B ปั้นสูตร ‘Eatertaiment’ปั๊มรายได้

เซ็ปเป้-เวิร์คพอยท์’’ ลุย F&B ปั้นสูตร ‘Eatertaiment’ปั๊มรายได้

1 ปีผ่านไป หลังการใช้กลยุทธ์ความร่วมมือ(Collaboration)ระหว่าง “เซ็ปเป้” และ “เวิร์คพอยท์” ในการทำตลาดลูกอมแบรนด์ “ครูเพ็ญศรี” จนสร้างยอดขาย 40 ล้านบาทตามเป้าหมาย ได้เวลาขยับการเป็นพันธมิตรสู่การ “ร่วมทุน” ตั้งบริษัท โวป จำกัด เพื่อลุยสินค้าอาหารและเครื่องดื่มต่อ

การตั้ง “โวป” ทาง “เซ็ปเป้” ถือหุ้น 60% ส่วนเวิร์คพอยท์ส่งบริษัทในเครืออย่าง “ไทย บรอดคาสติ้ง” 40% และลงขันเงิน 50 ล้านบาทเพื่อเคลื่อนธุรกิจ

ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพการร่วมทุนกับเวิร์คพอยท์ มีเป้าหมายพัฒนาสินค้า “หมวดใหม่” ออกสู่ตลาด โดยใช้กลยุทธ์ “Eatertainment” หรืออาหารและเครื่องดื่มต้องมีความอร่อย มาพร้อมความสนุก สร้างความบันเทิงให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะวัยทำงาน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มองหาแค่สินค้ารสชาติโดนใจ แต่ต้องตอบไลฟ์สไตล์ได้ด้วย

สินค้าแรกลูกอม “ครูเพ็ญศรี” ถือเป็นการชิมลาง แต่ “โอกาส” ทางการตลาดอาหารและเครื่องดื่มยังมีอีกมาก ซึ่งโค้งสุดท้ายปีจะเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “กาแฟสำเร็จรูป” เข้ามาเสริมทัพ ชิงเค้กก้อนโต 60,000 ล้านบาท(รวมกาแฟสำเร็จรูป ทรีอินวัน และกาแฟพร้อมดื่ม)

“อาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะสินค้าใหม่ทานตอบสนองไลฟ์สไตล์ และได้เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ควบคู่กัน”

ธุรกิจเป็นเรื่องของการสร้าง “ยอดขาย-กำไร” การผนึกเวิร์คพอยท์ ยังตอบโจทย์ด้านการสื่อสารตลาดด้วย ซึ่งทั้งปีบริษัทใช้งบประมาณ 10% ของยอดขาย เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ โฆษณาต่างๆ ขณะที่ “กาแฟสำเร็จรูป” จะตอบโจทย์การทำตลาดดังกล่าว เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง(Mass) โดยใช้พลังสื่อ “เวิร์คพอยท์” นั่นเอง

เซ็ปเป้-เวิร์คพอยท์’’ ลุย F&B ปั้นสูตร ‘Eatertaiment’ปั๊มรายได้ ด้านลูกอมครูเพ็ญศรี สินค้าตัวแรกที่ทำตลาด แม้ยอดขายเข้าเป้า แต่ยัง “จุดอ่อน” โดยอดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์ รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บมจ.เซ็ปเป้ เล่าว่า ความท้าทายที่เจอ 3-4 เดือนแรก คือ “ราคา” ด้วยปริมาณสินค้า 8 เม็ด ราคา 20 บาท ในห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อผู้บริโภคยอมรับ และขายดีทติด Top5 ในตลาด ทว่าช่องทางใหญ่ยังเป็นร้านค้าทั่วไป เมื่อ “แพง” จึงเป็นกำแพงในการค้าขาย และบริษัทหาทาง “แก้ไข”

ตลาดลูกอมมูลค่าไม่มากนักหลัก “พันล้านบาท” แต่ “คู่แข่ง” มีเพียบบนชั้นวางสินค้า(เชลฟ์) ขณะที่การทำตลาดกาแฟ บริษัทมั่นใจจะสร้างความ “แตกต่าง”ได้ รวมถึงสินค้าใหม่อีกหมวด เป็นสิ่งที่เซ็ปเป้ ยังไม่มี การรุกตลาดที่ไม่ใช่เครื่องดื่มจะเป็นจิ๊กซอว์ดันรายได้หมวดดังกล่าวให้โต จากสัดส่วน 10%

ธนศักดิ์ หุ่นอารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยังมองหาโอกาสเติบโตผ่านการผนึกพันธมิตร(Strategic Partner) โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจตลาด “สินค้าอุปโภคบริโภค” ต่อยอดจุดแข็งในฐานะ “ผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์” มีสินทรัพย์สำคัญจาก “คาแร็กเตอร์” รายการต่างๆ ที่สำคัญมี “สื่อ” หลากแพลตฟอร์มทั้งทีวีดิจิทัล ออฟไลน์ อีเวนท์ และสื่อออนไลน์ ฯ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก

เซ็ปเป้-เวิร์คพอยท์’’ ลุย F&B ปั้นสูตร ‘Eatertaiment’ปั๊มรายได้ ปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อยังเปลี่ยนแปลง “ดิจิทัล” ทรงอิทธิพลและชิงเม็ดเงินโฆษณามหาศาล เวิร์คพอยท์ ได้ปรับตัวรุกธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่สื่อ จับมือพันธมิตร อย่าง เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ปั้นแอปพลิเคชั่นปั้น “ที-ป๊อป” สร้างคอมมูนิตี้เชื่อมศิลปินกับแฟนคลับ และ เซ็ปเป้ รุกอาหารและเครื่องดื่ม

ที่ผ่านมา ยังลุยตลาดสินค้าสุขภาพและความงาม แต่ได้ “ยุติ” กิจการ หลังพยายามขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ แต่เจอ “อุปสรรค”

“บทเรียนการทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค มีเรื่องช่องทางจำหน่าย ซัพพลายเชน การบริการจัดการสต๊อกสินค้า ซึ่งบริษัทไม่เชี่ยวชาญ เพราะจุดแข็งเราคือการเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ ความบันเทิง”

ด้าน สุรการ ศิริโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารการเงินการลงทุน บมจ. เวิร์คพอยท์ ฯ กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือกับเซ็ปเป้ บริษัทวางงบประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนทั้งรูปแบบถือหุ้น และร่วมทุนในสัดส่วน 25% ขึ้นไป

“เรามีการเจรจากับพันธมิตรใหม่ๆ 2-3 ราย เพื่อรุกตลาดสินค้าใหม่ๆ ผลักดันรายได้ที่ไม่ใช่สื่อให้เติบโตขึ้น ส่วนการร่วมทุนกับเซ็ปเป้ จะช่วยซีนเนอร์ยีการใช้สื่อราว 5% จากปัจจุบันใช้ประโยชน์สร้างรายได้จากโฆษณาหรือยูทิไลซ์ราว 50-60%”