“ททท.” คาดครึ่งหลังปี 65 ต่างชาติเที่ยวไทยฟื้นตัว พุ่ง 1,840% แตะ 7.5 ล้านคน

“ททท.” คาดครึ่งหลังปี 65 ต่างชาติเที่ยวไทยฟื้นตัว พุ่ง 1,840% แตะ 7.5 ล้านคน

“ททท.” คาดครึ่งปีหลัง 2565 “ต่างชาติเที่ยวไทย” ฟื้นตัว แตะ 7.5 ล้านคน พุ่ง 1,840% จากปีก่อน มั่นใจปีนี้ผลักดันได้ถึง 10 ล้านคน แต่ยังต้องจับตาสารพัดปัจจัย ทั้งโควิดกลายพันธุ์ ฝีดาษลิง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสหรัฐ-จีน ตลอดจนภาะเงินเฟ้อ ฉุดมู้ดการเดินทาง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 7.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1,840% สร้างรายได้ 4.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,113%

-นักท่องเที่ยวจากอาเซียน

จำนวน 3.13 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11,074% สร้างรายได้ 1.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,256%

-นักท่องเที่ยวจากยุโรป

จำนวน 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 580% สร้างรายได้ 1.19 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 462%

-นักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้

จำนวน 9.89 แสนคน เพิ่มขึ้น 8,628% สร้างรายได้ 4.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,331%

-นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

จำนวน 8.3 แสนคน เพิ่มขึ้น 2,400% สร้างรายได้ 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,853%

-นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง

จำนวน 4.49 แสนคน เพิ่มขึ้น 1,516% สร้างรายได้ 3.98 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,315%

-นักท่องเที่ยวจากอเมริกา

จำนวน 2.57 แสนคน เพิ่มขึ้น 531% สร้างรายได้ 1.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 417%

-นักท่องเที่ยวจากโอเชียเนีย

จำนวน 2.34 แสนคน เพิ่มขึ้น 2,274% สร้างรายได้ 1.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,003%

-นักท่องเที่ยวจากแอฟริกา

จำนวน 2.75 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 1,043% สร้างรายได้ 1.88 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 762%

สำหรับสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2565 มีจำนวน 2.12 ล้านคน และเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนทะลุ 4 ล้านคนแล้ว

“เมื่อดูแนวโน้มการเดินทางเข้าประเทศไทยในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 7.5 ล้านคน เมื่อรวมกับครึ่งปีแรกอยู่ที่ 9.62 ล้านคน แต่ ททท.มั่นใจว่าจะผลักดันให้ถึง 10 ล้านคนได้”

และจากการที่คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) เพิ่งมีมติให้ขยายระยะเวลาพำนักในไทยให้กับชาวต่างชาติจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ให้อยู่ในไทยได้นานขึ้นจากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และขยายเวลาให้กับผู้ที่มาขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566 จะทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ในไทยนานขึ้น มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

โดยมีปัจจัยสนับสนุนการปลดล็อกมาตรการเดินทางเข้าไทย ยกเลิกการลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) และข้อกำหนดการซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป ประกอบกับมีการเปิดเที่ยวบินใหม่และการกลับมาเปิดเที่ยวบินที่เคยระงับทำการบินในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเส้นทางบินที่มาจากภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้

ขณะเดียวกัน การผ่อนคลายมาตรการขากลับเข้าประเทศของตลาดในภูมิภาคอเมริกา เอเชียและแปซิฟิกใต้ ช่วยให้บรรยากาศในการเดินทางเข้าไทยผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เช่น สหรัฐ และนิวซีแลนด์ อีกทั้งมียกเลิกใช้ผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบก่อนเดินทางเข้าประเทศจีน และกรมการบินพลเรือนของจีนอนุญาตให้สายการบินประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย สามารถบินเข้าประเทศจีนได้สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ด้านฮ่องกงลดเวลากักตัวในโรงแรมเหลือ 3 วัน จากเดิม 7 วัน และสังเกตตนเอง 4 วัน

นอกจากนี้ มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านชายแดนทางบกของไทยทั่วประเทศ และ ททท.ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวอาเซียน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย ที่สำคัญตลาดหลักของไทยมีแผนกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงเข้าไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) เช่น ตลาดรัสเซีย มีเที่ยวบินเส้นทาง มอสโก-ภูเก็ต 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มต้นวันที่ 30 ต.ค. 2565 และ ตลาดแคนาดา มีเที่ยวบินเส้นทาง แวนคูเวอร์-กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 1 ธ.ค. 2565 อีกทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 ของประเทศไทยระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 2565 ช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นสำคัญที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยวคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยทั้งในไทยและในต่างประเทศ แนวโน้มการระบาดโรคฝีดาษลิงลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก อาจทำให้มีการกลับมายกระดับมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศเข้มงวดขึ้น

รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อและไม่มีที่ท่ายุติ อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาน้ำมันและอาหารปรับตัวสูงขึ้น ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ กรณีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐ-จีน อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นและบรรยากาศการเดินทางหากสถานการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น